Notifications

You are here

อีบุ๊ค

โครงการศึกษา วิจัยศักยภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใ...

TNRR

Description
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์และประเมินศักยภาพท้องถิ่นในการวางแผนและดำเนินการเพื่อพิทักษ์สิทธิเด็กของทั้งผู้ให้บริการและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารูปแบบและกระบวนการในการพัฒนาและคุ้มครองเด็กและเยาวชนที่เหมาะสมกับบริบทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดอุทัยธานี ซึ่งการวิจัยนี้ใช้วิธีการวิจัยทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ประกอบด้วยการรวบรวมข้อมูลจากแบบสอบถามจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดอุทัยธานี การสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ที่เกี่ยวข้องในด้านการพัฒนาและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และการสนทนากลุ่มเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา และการสนทนากลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ จากนั้นนำข้อมูลที่เก็บรวบรวม มาทำการสร้างและพัฒนารูปแบบและกระบวนการในการพัฒนาและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ที่เหมาะสมกับบริบทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดอุทัยธานี สรุปผลการวิจัย 1. การดำเนินการด้านเด็กและเยาวชน ได้มีวาระแห่งชาติ นโยบาย กฎหมาย กองทุนเพื่อเด็กและเยาวชนครบและเพียงพอที่จะทำให้การดำเนินการด้านเด็กและเยาวชนมีคุณภาพและประสิทธิภาพ แต่การนำนโยบายไปปฏิบัติในกระทรวง ทบวง กรม ยังไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้ ยังคงแยกกันทำ การประสานงานระดับต่างๆ ยังไม่มีประสิทธิภาพ งบประมาณแยกส่วนกระจัดกระจายตามระบบงบประมาณของส่วนกลาง กระทรวง ทบวง กรม ภารกิจระดับหน่วยงาน ยึดกระทรวง หน่วยงาน ของตนเองเป็นหลักมากกว่ายึดตัวองค์รวม ของเด็ก สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล นโยบายด้านเด็กและเยาวชนยังเป็นนโยบายที่มีความสำคัญน้อยกว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสาธารณูปโภคและอื่นๆ 2. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดอุทัยธานีทุกระดับมีนโยบายที่เน้นการพัฒนาและคุ้มครองเด็กและเยาวชนยังไม่ชัดเจนนัก ส่วนใหญ่ยังคงให้ความสำคัญด้านความเจริญทางวัตถุ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลักแต่ถือว่ามีการพัฒนาที่ดีอยู่ นโยบายการพัฒนาเด็กและเยาวชนปัจจุบันเป็นเรื่องของการสนับสนุนการศึกษาในสถานศึกษา และศูนย์เด็กเล็กเป็นหลัก ดังนั้น พันธกิจหลักขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงยังเป็นเรื่องของการให้งบประมาณแบบแยกส่วน ขาดองค์รวมของพัฒนาการตามวัย มุ่งสนับสนุนสถานศึกษาทั้งในเรื่องอุปกรณ์กีฬา ดนตรี สื่อการเรียนการสอน เทคโนโลยี อาหารกลางวัน อาหารเสริม (นม) การจ้างครู เป็นต้น แต่ในเรื่องนโยบายเชิงรุกเพื่อพัฒนาและคุ้มครองเด็กและเยาวชนเพื่อป้องกันและยับยั้งปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน ยังเกิดขึ้นในบางองค์กรมีจำนวนไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นช่วงพัฒนาและเรียนรู้จากการลงมือทำ ซึ่งสะท้อนได้จากการดำเนินโครงการใหม่ๆ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในด้านนโยบาย วิสัยทัศน์ พบว่า มีการปรับเปลี่ยนให้สัมพันธ์กับนโยบายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในเชิงพัฒนาเด็กและเยาวชนมากขึ้นตามลำดับ 3. ศักยภาพของท้องถิ่นในจังหวัดอุทัยธานี ในการวางแผนและดำเนินการเพื่อพิทักษ์สิทธิเด็ก โดยภาพรวมความพร้อมในด้านงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ มีเพียงพอ แต่ยังมีการลงทุนด้านเด็กและเยาวชนต่ำ ปัจจุบันส่วนใหญ่ไม่เกินร้อยละ 10 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ปัจจัยสำคัญอยู่ที่การวางนโยบาย และกำหนดวิสัยทัศน์และพันธกิจ ด้านการพัฒนาและคุ้มครองเด็กและเยาวชนให้ชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งจะต้องพิจารณาให้เห็นว่าการพัฒนาและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ไม่ใช่เพียงแค่การสนับสนุนงานด้านการศึกษาในโรงเรียนหรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเท่านั้น แต่จะต้องพิจารณาปัญหาเด็กและเยาวชนในท้องถิ่นให้รอบด้าน เจาะลึก และเกาะติดกับสถานการณ์ปัญหาควบคู่กันไป จะต้องพัฒนาปริมาณและคุณภาพทีมสหวิชาชีพ ด้านเด็กและเยาวชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มากขึ้น เพื่อเข้ามาดำเนินการเรื่องนโยบาย แผนงาน งบประมาณ โครงการ กิจกรรมต่างๆ รวมทั้งช่วยเหลือแนะนำ ปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในแต่ละท้องถิ่นด้วย 4. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดอุทัยธานีมีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานเรื่อง “สิทธิเด็ก” อยู่ในระดับดี แต่ยังต้องปรับปรุงแก้ไขเกือบทุกด้าน ทั้งสิทธิที่จะมีชีวิตรอด สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา สิทธิที่ได้รับความคุ้มครอง และสิทธิในการมีส่วนร่วม ในแต่ละท้องถิ่นกำลังเผชิญสถานการณ์และปัญหาเด็กและเยาวชนที่วิกฤตหลายด้าน นับแต่ยาเสพติด มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ติดเกม ความรุนแรง เรียนไม่จบ ขาดทุนการศึกษา ลาออกกลางคัน เรียนจบแล้วไม่มีงานทำ ระบบคุณธรรมจริยธรรมเสื่อม ค่านิยมฟุ้งเฟ้อ ใช้เวลาว่างไม่สร้างสรรค์ ฯลฯ 5. ได้รูปแบบที่เหมาะสมกับการดูแลเด็กและเยาวชนในสังคมบริบทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดอุทัยธานี ข้อเสนอแนะ 1. รัฐบาลแต่ละชุดจำเป็นต้องมี “วาระและนโยบายแห่งชาติด้านสังคม ครอบครัว การศึกษา เด็กและเยาวชน”เพื่อเป็นทิศทางและแนวทางในการกำหนดยุทธศาสตร์แผนการดำเนินการ งบประมาณ และการลงมือปฏิบัติตามกรอบเวลาที่ชัดเจนให้บังเกิดผลสำเร็จตามที่ได้กำหนดไว้ พร้อมกับเน้นการบูรณาการเชิงนโยบายภาคสังคมให้เกิดขึ้นเพื่อให้กระทรวง ทบวง กรม ต่างสังกัดทำงานโดยยึดเป้าหมาย “การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นสำคัญ “ มากกว่าการยึดหน่วยงานหรือองค์กร 2. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยต้องกำหนดนโยบายการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การศึกษาของเด็กและเยาวชนเป็นนโยบายหลักให้มีความสำคัญต่อเนื่องและยั่งยืน จัดตั้งสถาบันการฝึกอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมของผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติการ โดยพัฒนาหลักสูตรเรื่องสิทธิเด็ก คู่มือฝึกอบรม สื่อประสม ฯลฯ พร้อมกับปรับเปลี่ยนวิธีการจัดสรรงบประมาณระบบใหม่ในเชิงองค์รวม ส่งเสริมพัฒนาการเด็กตามวัยมากกว่าตามรายการที่เป็นอยู่เป็นเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน การนำ “มาตรฐานการพัฒนาเด็กและเยาวชน” ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย มาใช้ในการเป็นข้อมูลพื้นฐานในการกำหนดนโยบาย แผนงาน โครงการ งบประมาณ และตัวบ่งชี้พื้นฐานด้านการบริหารจัดการ การศึกษา อนามัย และสังคมมาใช้ร่วมกัน 3. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องริเริ่มและพัฒนา “ หลักสูตรสิทธิเด็ก ” ให้เกิดขึ้นเพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอน การจัดกิจกรรมต่างๆให้เหมาะสมกับสังคมบริบทของจังหวัดอุทัยธานี การฝึกอบรมครู บุคลากรทีมสหวิชาชีพให้เข้าใจเชิงหลักการ องค์ความรู้ ระบบคุณค่าของสิทธิเด็กให้เกิดขึ้นให้ได้ ส่งเสริมกิจกรรมด้านการแสดงออก การจัดค่ายยุวชนประชาธิปไตย การเลือกตั้ง และการรณรงค์เพื่อใช้สิทธิทางการเมืองในการมีส่วนร่วมและสร้างสรรค์และควรส่งเสริมสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาผลิตสื่อประสม วีซีดี หรือซีดี เกี่ยวกับหลักการ องค์ความรู้เรื่องสิทธิเด็กให้ง่าย สั้นกระชับ น่าสนใจ มีตัวอย่างกรณีศึกษาประกอบให้เห็นความชัดเจน การเชื่อมโยงวิถีชีวิตไทย ระบบครอบครัว ชุมชนปกป้องคุ้มครองเด็ก และแจกจ่ายให้ทุกองค์กรนำไปใช้ในการฝึกอบรม รวมทั้ง ควรมีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่องทุกๆปีด้วย 4. ในระดับองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล จำเป็นต้อง มีสภาเด็กและเยาวชนเกิดขึ้น อย่างเป็นอิสระ มีทีมสหวิชาชีพเป็นกลุ่มบุคคลที่คอยให้คำแนะนำ ช่วยเหลือเพื่อดำเนินกิจกรรม วาระต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้แลกเปลี่ยน สำหรับระดับชุมชน หมู่บ้าน อบต. ต้องเน้นการมีส่วนร่วมจากเด็กทุกฝ่ายด้วยการทำ “แผนแม่บทท้องถิ่น” ประวัติศาสตร์ชุมชน การทำแผนที่ ศูนย์ข้อมูลที่ทันสมัย แหล่งและสถานที่สำคัญ แนวโน้มของสถานการณ์และปัญหา ชุดความรู้ และอื่นๆ เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สูงอายุ การทำงานกลุ่ม การเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ และการสร้างระบบข้อมูลสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพและทันสมัย 5. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องลดพื้นที่เสี่ยงลงและเพิ่มพื้นที่ดีให้มากขึ้นชุมชนจำเป็นต้องดูแล ควบคุมพื้นที่เสี่ยงอันตรายไม่ให้มีมากจนเกินไป จัดระเบียบพื้นที่ให้เหมาะสม (Zoning) และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด มีกลุ่มเฝ้าระวังภาคประชาชน สภาเด็กและเยาวชนช่วยกันดูแล กวดขัน และให้ข้อมูลที่เกิดขึ้น แก่ผู้รับผิดชอบโดยตรงเพิ่มพื้นที่ดี ชุมชนต้องลงทุนเน้นการรับฟังความคิดเห็นความต้องการที่แท้จริงของเด็กและเยาวชน <br><br>-

Date of Publication :

03/2023

Publisher :

สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

Category :

รายงานการวิจัย

Total page :

77012 pages


เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ