Description
"บทสรุปผู้บริหารการศึกษา การส่งเสริมอาชีพและการมีงานทำแก่คนพิการในจังหวัดนครราชสีมา ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ เพื่อศึกษาการเข้าถึงสิทธิด้านอาชีพและการมีงานทำของคนพิการ เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรคของการเข้าถึงสิทธิด้านอาชีพและการมีงานทำของคนพิการในจังหวัดนครราชสีมา และเพื่อศึกษาแนวทางการส่งเสริมอาชีพและการมีงานทำของคนพิการ การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัย เชิงประยุกต์ (Applied Research) และใช้วิธีการศึกษาทั้งเชิงปริมาณที่ได้จากการใช้แบบสอบถามแบบมีโครงสร้าง และศึกษาเชิงคุณภาพที่ใช้การสนทนากลุ่มและการสัมภาษณ์เชิงลึก ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ สถานประกอบการที่มีการจ้างงานคนพิการ, คนพิการที่ทำงานและไม่ได้ทำงานในสถานประกอบการ, ผู้ดูแลคนพิการ, องค์กรคนพิการ, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น/ รพ.สต. , ศูนย์บริการคนพิการจังหวัดนครราชสีมา และสถานประกอบการที่ไม่มีการจ้างงานคนพิการ ซึ่งจำนวนกลุ่มเป้าหมายเชิงปริมาณ ได้แก่ สถานประกอบการที่มีการจ้างงานคนพิการ จำนวน 40 แห่ง, คนพิการที่ทำงานในสถานประกอบการ จำนวน 50 คน, คนพิการที่ไม่ได้ทำงานในสถานประกอบการ จำนวน 50 คน, ผู้ดูแลคนพิการ จำนวน 50 คน, และกลุ่มเป้าหมายเชิงคุณภาพ ได้แก่ องค์กรคนพิการ, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น/รพ.สต. ,ศูนย์บริการคนพิการจังหวัดนครราชสีมา และสถานประกอบการที่ไม่มีการจ้างงานคนพิการผลการศึกษาสามารถสรุปได้ ดังนี้1. การเข้าถึงสิทธิด้านอาชีพและการมีงานทำของคนพิการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ดังนี้ (1) คนพิการทั้งที่ทำงานในสถานประกอบการและไม่ได้ทำงานในสถานประกอบการ (1.1) คนพิการส่วนใหญ่ทราบเกี่ยวกับกฎหมายการจ้างงาน ซึ่งคนพิการที่มีงานทำในสถานประกอบการทราบแต่ไม่ละเอียด ร้อยละ 72 และคนพิการที่ไม่ได้ทำงานในสถานประกอบการทราบอย่างละเอียด ร้อยละ 50 (1.2) คนพิการบางส่วนทราบเกี่ยวกับสิทธิในการบรรจุงานที่เหมาะสมจากกรมการจัดหางาน โดยคนพิการที่มีงานทำในสถานประกอบการรับทราบร้อยละ 60 และคนพิการที่ไม่ได้ทำงานในสถานประกอบการรับทราบร้อยละ 50 (1.3) คนพิการส่วนใหญ่ไม่เคยได้รับการบริการจัดหางานและบรรจุงานที่เหมาะสมจากกรมการจัดหางาน โดยคนพิการที่มีงานทำในสถานประกอบการไม่เคยได้รับการบริการร้อยละ 68 และคนพิการที่ไม่ได้ทำงานในสถานประกอบการไม่เคยได้รับบริการร้อยละ 64 (1.4) คนพิการรับทราบและไม่ทราบว่ามีสิทธิในการได้รับการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงานหรือการประกอบอาชีพอิสระได้ตามความเหมาะสมกับภาวะแห่งความพิการจากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน คนพิการที่มีงานทำในสถานประกอบการไม่รับทราบร้อยละ 52 และคนพิการที่ไม่ได้ทำงานในสถานประกอบการรับทราบร้อยละ 56 (1.5) คนพิการส่วนใหญ่รับรู้กฎหมายเกี่ยวกับการจ้างงานจาก 1)สื่อมวลชนต่างๆ เช่น รับรู้จากสื่อโทรทัศน์/อินเตอร์เน็ต/วิทยุ 2) การเข้าร่วมประชุมชี้แจงของหน่วยงาน/สถานประกอบการ 3) สื่อสิ่งพิมพ์/วารสาร/สิ่งตีพิมพ์ต่างๆ 4) สมาคมคนพิการ และ5) เจ้าหน้าที่(พมจ./อบต.) (1.6) คนพิการมีการเตรียมความพร้อมในระดับหนึ่ง อาทิเช่น เรื่องของการศึกษาซึ่งกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาพอประมาณ คือ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยมีคุณสมบัติทางการศึกษาตามที่สถานประกอบการต้องการ(มีวุฒิ ม.6 ขึ้นไป) เป็นต้น (1.7) ขาดตำแหน่งงานที่เหมาะสม เนื่องจากความรู้ความสามารถของคนพิการยังไม่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ และมีคนพิการที่ทำงานในสถานประกอบการส่วนใหญ่ทำงานในตำแหน่งที่ไม่ต้องใช้ฝีมือมากนัก โดยที่สถานประกอบส่วนใหญ่ไม่มีโครงการฝึกอบรมส่งเสริมอาชีพแก่พนักงานคนพิการ (1.8) ในปัจจุบันสถานประกอบการส่วนใหญ่มีสิ่งที่อำนวยความสะดวกในการทำงานสำหรับคนพิการมากขึ้น ซึ่งส่งผลจากกฎหมายกำหนดและบังคับใช้ (1.9) คนพิการที่ไม่ได้ทำงานในสถานประกอบการส่วนใหญ่รับรู้กฎหมายอย่างละเอียด และรับทราบว่าตนเองมีสิทธิในการได้รับการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงานหรือการประกอบอาชีพอิสระได้ตามความเหมาะสมกับภาวะแห่งความพิการจากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่คงรอรับการบริการจัดหางานและบรรจุงานที่เหมาะสมจากกรมการจัดหางานหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงตัวคนพิการเองมีความต้องการออกมาประกอบธุรกิจส่วนตัวมากกว่า (1.10)การรับรู้ถึงแหล่งเงินลงทุนที่จะประกอบอาชีพจากการกู้ยืมเงินกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการที่คนพิการส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 64 มีการใช้บริการจากกองทุนนี้ สำรับคนพิการที่ไม่ได้ใช้บริการกองทุนนี้เพราะการดำเนินงานยุ่งยากใช้เวลานาน และเกรงว่าจะไม่มีเงินส่งคืนเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (2) สถานประกอบการที่มีการจ้างงานคนพิการ (2.1) สถานประกอบการในจังหวัดนครราชสีมามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการส่งเสริมอาชีพคนพิการตามกฎหมายอย่างละเอียด กว่าร้อยละ 90 ที่เลือกใช้วิธีจ้างงานครบตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด (2.2) ปัจจุบันสถานประกอบการในจังหวัดนครราชสีมาไม่ได้จ้างงานคนพิการทำงานเพียงเพราะต้องจ้างตามกฎหมายอย่างเท่านั้น แต่สถานประกอบการยังมองถึงหลักมนุษยธรรม/CSR รวมทั้งคนพิการยังมีคุณสมบัติตามที่สถานประกอบการกำหนดด้วย (2.3) สถานประกอบการมีการจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานไว้ให้แก่คนพิการ เช่น ห้องน้ำคนพิการ ทางลาดขึ้น-ลง ที่จอดรถสำหรับคนพิการ เป็นต้น สำหรับเครื่องมือเฉพาะในการทำงานของคนพิการสถานประกอบการยังไม่มีการจัดเตรียม (3) ผู้ดูแลคนพิการ (3.1) กลุ่มผู้ดูแลคนพิการส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงและมีอายุมากกว่า 50 ปี รวมทั้งมีสถานภาพสมรสแล้ว และกว่าร้อยละ 80 ดูแลคนพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย โดยผู้พิการมีสภาพร่างกายไม่พร้อมที่จะทำงานในสถานประกอบการ (3.2) ผู้ดูแลคนพิการกว่าร้อยละ 50 มีการรับรู้ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้แก่คนพิการ การมีผู้ช่วยเหลือคนพิการ การช่วยเหลือคนพิการที่ไม่มีผู้ดูแล และสิทธิของผู้ดูแลคนพิการ พ.ศ. 2552 แต่ไม่ละเอียดเท่าที่ควร (3.3) ผู้ดูแลคนพิการทราบว่ามีกฎหมายที่ให้สถานประกอบการที่มีพนักงานตั้งแต่ 100 คนต้องจ้างคนพิการจำนวน 1 คน ซึ่งทราบแต่ไม่ละเอียด (3.4) ผู้ดูแลคนพิการส่วนใหญ่ทราบถึงสิทธิในการรับบริการเกี่ยวกับสิ่งอำนวยความสะดวก การกู้ยืมเงินจากกองทุน แต่ไม่ได้ใช้บริการในการกู้ยืมเงินกองทุน เนื่องจากผู้ดูแลคนพิการกังวลว่าจะไม่มีความสามารถในการส่งคืนได้2. การรับรู้และเข้าใจในพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ พ.ศ. 2550 (1) จากการสนทนากลุ่มของหน่วยงานภาครัฐ พบว่า บุคลากรที่เป็นนิติกรเท่านั้นที่จะมีความเข้าใจในตัวพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ฉบับนี้โดยเฉพาะมาตรา 33, 34 เป็นอย่างดี ส่วนมาตรา 35 ที่ไม่ค่อยได้ใช้หรือไม่ได้ใช้ จึงไม่ค่อยทราบในรายละเอียดกันมากนัก รวมทั้งไม่ทราบถึงการขับเคลื่อนกฎหมาย ส่วนสถานประกอบการภาคเอกชนมีการรับรู้ การมีความรู้ความเข้าใจในกฎหมายฉบับนี้ในส่วนที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ยกเว้นสถานประกอบการขนาดใหญ่ที่มีพนักงานมากกว่า 400 คนนั้น จะมีฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจในกฎหมายฉบับนี้ในส่วนมาตรา 33 และ 34 เป็นอย่างดี แต่ในส่วนมาตรา 35 นั้น ยังไม่มีความเข้าใจว่ากิจกรรมใดทำได้ หรือ วิธีคำนวณเป็นจำนวนพนักงาน และเมื่อภาคเอกชนติดต่อเจ้าหน้าที่กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ก็ไม่สามารถได้รับข้อมูลที่ชัดเจนเพื่อการปฏิบัติได้ (2) จากสนทนากลุ่มองค์กรคนพิการ พบว่า ผู้นำหรือตัวแทนองค์กรคนพิการมีความเข้าใจในตัวพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ฉบับนี้โดยเฉพาะมาตรา 33, 34 และ 35 เป็นอย่างดี รวมทั้งทราบถึงการขับเคลื่อนกฎหมายในปัจจุบันด้วย และองค์การคนพิการจะเป็นสื่อกลางในการทำความเข้าใจในเรื่องกฎหมายให้คนพิการในจังหวัดนครราชสีมาได้เข้าใจอีกช่องทางหนึ่ง (3) สำหรับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2556 นั้น จากการศึกษาพบว่า สถานประกอบการส่วนใหญ่เลือกปฏิบัติตามในมาตรา 34 การจ่ายเงินชดเชยเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เนื่องจากเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการปฏิบัติตามกฎหมายและมีค่าใช้จ่ายคงที่ รองลงมา ได้แก่ การปฏิบัติตามกฎหมายในมาตรา 33 การจ้างงานคนพิการตามสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด และการปฏิบัติตามกฎหมายในมาตรา 35 การให้สัมปทานหรือความช่วยเหลือใด ๆ แก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการในการประกอบอาชีพได้รับการนำไปใช้น้อยที่สุด และพบว่าคนพิการที่ไม่ได้ทำงานในสถานประกอบการส่วนใหญ่มีความต้องการที่จะทำงานในสถานประกอบการ3. ปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ พ.ศ. 2550 (การส่งเสริมอาชีพและการมีงานทำของคนพิการตาม มาตรา 33 มาตรา 34 และมาตรา 35) ดังนี้ 1) หน่วยงานภาครัฐ (1) เรื่องของอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบในการเอาผิดกับสถานประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือพยายามหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมาย ยังไม่สามารถปฏิบัติได้อย่างเคร่งครัด (2) ระบบฐานข้อมูลที่ยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับคนพิการทั้งเรื่องของเพศ อายุ จำนวนคนพิการที่ทั้งยังทำงานได้และที่ทำงานไม่ได้แล้ว ประเภทของความพิการ ระดับความพิการ ความสามารถในการทำงาน รวมทั้งประเภทของงานที่คนพิการต้องการทำ และประสบการณ์ในการทำงานที่ทำมาก่อน เป็นต้น (3) การเปิดโอกาสให้คนพิการเข้าทำงานในหน่วยงานภาครัฐและเอกชนยังมีน้อย (4) เรื่องของการขาดกำลังคนที่จะทำงานด้านคนพิการ (5) ด้านสถานประกอบการเองและหน่วยงานของรัฐยังไม่ได้มีการเตรียมการเพื่อรองรับคนพิการเข้าทำงาน ด้วยข้อจำกัดบางอย่างสำหรับความพิการประเภทที่ต้องมีเครื่องมือเฉพาะสำหรับการทำงานของคนพิการ 2) องค์กรคนพิการ (1) จากการสัมภาษณ์เชิงลึกองค์กรคนพิการคนพิการไม่มีพร้อมในการทำงานในสถานประกอบการ ไม่สามารถแข่งขันได้ เนื่องจากคนพิการหลายประเภทที่ไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งต้องมีผู้ดูแลและผู้ดูแลก็ไม่ได้ไปทำงานด้วย ทำให้ครอบครัวขาดรายได้เข้ามาจุนเจือ ทำให้บางครั้งก็ขาดความต่อเนื่องในการรักษา ขาดยา รวมทั้งขาดการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (2) ทัศนคติของบุคลากร/เจ้าหน้าที่ทั่วๆ ไป ยังเห็นว่าคนพิการเป็นคนป่วยมากกว่าเป็นประชากรของประเทศคนหนึ่ง ดังนั้นคนพิการจึงไม่กล้าออกจากบ้านเพื่อเข้าสู่สังคม (3) เบี้ยคนพิการเดือนละ 800 บาทไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ เพราะคนพิการบางประเภทจำเป็นต้องมีผู้ดูแลด้วย (4) คนพิการบางส่วนที่ไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ด้วยตนเอง เพราะเรื่องของเส้นทางคมนาคมต่างๆ ไม่เอื้ออำนวย (5) ปัญหาที่สถานประกอบการ/หน่วยงานภาครัฐก็ยังไม่พร้อม เช่น เรื่องของตำแหน่งงานที่เหมาะสม และเรื่องของสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับการทำงานของคนพิการ 3) สถานประกอบการ (1) สถานประกอบการยังไม่มีบุคลากรเฉพาะสำหรับการสื่อสาร(ล่ามภาษามือ)กับคนพิการในบางประเภท(2) เครื่องมืออำนวยความสะดวกในการทำงานสำหรับคนพิการในสถานประกอบการยังไม่ครอบคลุมตามประเภทความพิการ ถ้าสถานประกอบการจำเป็นต้องรับคนพิการทุกประเภทเข้าทำงาน เช่น ล่ามภาษามือ คอมพิวเตอร์สำหรับคนหูหนวก อักษรเบรลล์สำหรับคนพิการทางสายตา เป็นต้น (3) สถานประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานของคนพิการ เมื่อรับคนพิการเข้ามาทำงานแล้ว (4) จำนวนคนพิการที่ไม่เพียงพอกับความต้องการ โดยเฉพาะสถานประกอบการที่ไม่มีการจ้างงานคนพิการโดยประชาสัมพันธ์เปิดรับสมัคร แต่ไม่มีคนพิการมาสมัครงาน 4) ผู้ดูแลคนพิการ (1) ผู้ดูแลคนพิการส่วนใหญ่ทราบเกี่ยวกับกฎหมายการจ้างงานแต่ไม่ละเอียด (2) ผู้ดูแลคนพิการส่วนใหญ่ยังเห็นว่าคนพิการต้องการเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะในการประกอบอาชีพ แต่ต้องเป็นอาชีพที่สามารถนำกลับมาทำร่วมกับครอบครัวที่บ้านได้ เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัว (3) ผู้ดูแลคนพิการบางส่วนไม่ทราบถึงการมีสิทธิในการได้รับการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงานหรือการประกอบอาชีพอิสระได้ตามความเหมาะสมกับภาวะแห่งความพิการ4. ข้อเสนอแนะ4.1 ข้อเสนอแนะจากผู้วิจัย 1) ข้อเสนอในการส่งเสริมให้คนพิการเข้าถึงสิทธิด้านอาชีพและการมีงานทำ 1.1)การทำ MOU ร่วมกันของกระทรวงที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และองค์กรที่เกี่ยวข้อง ในการประชาสัมพันธ์และบังคับใช้กฎหมายในมาตรา 33 มาตรา 34 และมาตรา 35 และต้องร่วมมือกันเพื่อดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่กลุ่มเป้าหมายและผู้ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งประชาชนทั่วไปอย่างจริงจัง เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้รับรู้เรื่องเกี่ยวกับคนพิการและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การปฏิบัติตามกฎหมายสามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการจัดทำคู่มือในลักษณะคำถาม-คำตอบ การจัดสัมมนาระหว่างคนพิการ สถานประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการให้ความสำคัญแก่องค์กรคนพิการในการที่จะเป็นผู้อำนวยความสะดวก ประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐและคนพิการเนื่องจากคนพิการจะรับรู้ข่าวสารผ่านช่องทางขององค์กรคนพิการมากที่สุด 1.2)กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ควรจะจัดช่องทางให้คนพิการได้รับข่าวสารจากภาครัฐในหน่วยงานทั้งระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่นเพื่อให้การรับรู้สิทธิและการเข้าถึงสิทธิของคนพิการมีมากยิ่งขึ้น โดยอาจจัดตั้งศูนย์บริการคนพิการระดับอำเภอทุกอำเภอ ซึ่งอาจอยู่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือเทศบาลที่อยู่ใกล้ภูมิลำเนาของคนพิการอันเป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่คนพิการ และคนพิการจะสามารถได้รับข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว และครบถ้วน 1.3)กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ(พก.) ควรเพิ่มบทบาทหน้าที่ของศูนย์บริการคนพิการในระดับพื้นที่(ตำบล/อำเภอ)เพื่อให้บริการด้านการจัดหางาน การพัฒนาทักษะแรงงานของคนพิการเพื่อให้คนพิการสามารถเข้าใช้บริการได้อย่างสะดวก เนื่องจากอยู่ในภูมิลำเนาของคนพิการ สามารถเดินทางไปมาได้สะดวก 2) ข้อเสนอในการแก้ปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติตามมาตรา 33 มาตรา 34 และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งขาติ พ.ศ. 2550 ดังนี้ 2.1)ควรจำแนกลักษณะงานที่เหมาะสมกับความพิการ เพื่อเป็นแนวทางในการจ้างงานคนพิการให้กับสถานประกอบการ 2.2)หน่วยงานภาครัฐควรมีการเตรียมความพร้อมโดยการจัดสรรงบประมาณเพื่อคนพิการตั้งแต่เรื่องของการศึกษา โดยคนพิการควรได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่องจนถึงระดับปริญญาตรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อที่คนพิการจะได้มีวุฒิทางการศึกษาตามที่สถานประกอบการกำหนด และเพื่อรองรับการสมัครเข้าทำงานในหน่วยงานของรัฐหรือสถานประกอบการของเอกชนได้ ส่วนเรื่องของทักษะในการออกสังคมก็เช่นเดียวกัน เนื่องจากคนพิการมีความอายต่อสังคมรอบด้านมาตั้งแต่ยังวัยเยาว์ ดังนั้นในการออกสู่สังคมในวัยแรงงานจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก จนคนพิการไม่น้อยที่เป็นภาระแก่ครอบครัว ดังนั้นในปัจจุบันทั่วโลกจึงหันมาให้ความสำคัญที่ต้องการให้มองคนพิการว่าเป็นพลเมืองของประเทศ จึงมีความพยายามที่จะให้คนพิการมีการประกอบอาชีพทั้งอิสระหรือทำงานในสถานประกอบการ เพื่อที่จะได้ดูแลตนเองรวมทั้งดูแลครอบครัวได้ ไม่เป็นภาระของใคร ดังนั้นในเรื่องทักษะชีวิตนั้นภาครัฐก็ควรที่มีหลักสูตรนี้อยู่ในการเรียนปกติของคนพิการ อย่างเช่น การเรียนร่วมกับคนปกติ โดยในปัจจุบันมีคนพิการเข้าเรียนในสถานศึกษาในจังหวัดนครราชสีมาเพิ่มขึ้น ก็นับว่าเป็นทางหนึ่งของการแก้ไขปัญหานี้ แต่นอกจากนี้ภาครัฐควรให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปให้มีความเข้าใจคนพิการว่าความแตกต่างเป็นเพียงเรื่องร่างกาย แต่จิตใจก็เป็นเหมือนคนธรรมดาทั่วไป และภาครัฐก็ควรเป็นตัวอย่างในการปฏิบัติต่อคนพิการ เช่น การให้บริการต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐ ควรให้ความเอาใจใส่ เนื่องจากความไม่สะดวกต่างๆ กับคนพิการด้วยความเอื้ออาทร สิ่งที่สำคัญก็คือ การเตรียมความพร้อมด้านทักษะในการทำงานที่เหมาะสมกับความพิการ โดยจะต้องร่วมมือกับถาบันการศึกษา เครื่องมือในการทำงานสำหรับคนพิการและสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานให้จัดหลักสูตรสำหรับคนพิการ โดยขจัดกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ตลาดแรงงานและหากงบประมาณภาครัฐไม่พอเพียง ควรใช้งบประมาณจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเข้ามาสนับสนุนร่วมด้วย 2.3)สถานประกอบการควรจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่นอกเหนือจากสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานอย่างเช่น ห้องน้ำ ที่จอดรถคนพิการ ทางลาดขึ้น-ลง เป็นต้น แต่ควรมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการที่มากกว่านี้ อาทิเช่น ลิฟท์ เรื่องที่พัก ล่ามภาษามือ คอมพิวเตอร์สำหรับคนตาบอด หรือแม้กระทั่งตำแหน่งงานที่ว่างของสถานประกอบที่ไม่ตรงกับคุณสมบัติของคนพิการที่ต้องการ เป็นต้น ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่หลักของภาครัฐโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องระดับภูมิภาคและท้องถิ่นที่จะต้องมีการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ความรู้และความเข้าใจแก่สถานประกอบการ ในเรื่องของการจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ แก่คนพิการ หรือเรื่องของการลดหย่อนภาษีในกรณีต่างๆ เพื่อให้สถานประกอบการเข้าใจและเลือกแนวทางในเรื่องของการจ้างงานคนพิการได้อย่างถูกต้อง และเป็นการจูงใจให้จ้างงานคนพิการซึ่งจะได้ผลดีกว่าการบังคับใช้กฎหมาย นอกจากนี้ควรมีระบบการขอความร่วมมือจากสถานประกอบการในการจ้างงานและฝึกทักษะไปในตัวด้วยแทนที่จะรับเฉพาะผู้ที่มีคุณสมบัติและความสามารถเพียงพอแก่งานในสถานประกอบการเท่านั้น 2.4)ควรกำหนดระเบียบและเงื่อนไขในการให้สัมปทาน หรือ ความช่วยเหลือใดๆ ในการประกอบอาชีพของคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ พ.ศ. 2550 เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่สถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐในการปฏิบัติตามกฎหมาย นอกเหนือจากมาตรา 33 การจ้างงานตามสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด และ มาตรา 34 การส่งเงินชดเชยเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือปรับสัดส่วนการจ้างงานคนพิการตามมาตรา 33 ให้เหมาะสมกับจำนวนคนพิการที่มีในปัจจุบัน 2.5)กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ควรให้การสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในด้านงบประมาณ และให้ตระหนักถึงความสำคัญในการจ้างงานคนพิการ รวมทั้งการกำหนดให้มีอัตรากำลังสำหรับปฏิบัติงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มากกว่าเดิม 2.6)ตรวจสอบกรณีการปฏิบัติตามมาตรา 33 มาตรา 34 และมาตรา 35 ทั้งของสถานประกอบการภาคเอกชนและหน่วยงานของรัฐอย่างจริงจัง และหากพบการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวก็ควรมีการดำเนินคดีหรือดำเนินการตามแนวทางที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัดต่อไป4.2 ข้อเสนอแนะจากองค์กรคนพิการ 1) ปรับความเหมาะสมของการยื่นเอกสารกู้เงินจากกองทุนคนพิการ 1.1)แบบฟอร์มการขอกู้เงินในเว๊ปไซด์ที่โหลดได้และแบบฟอร์มจาก สนง.พมจ. ไม่เหมือนกัน ส่งผลให้คนพิการต้องนำแบบฟอร์มจาก สนง.พมจ. มาเขียนกู้ใหม่ 1.2)การเปิดโอกาสให้คนพิการค้ำประกันการกู้ยืมของคนพิการด้วยกันเองได้ 1.3)ข้อจำกัดในการกำหนดวงเงินกู้ ขยายวงเงินให้กู้ยืมที่เท่ากัน 1.4)ปรับลดระยะเวลาในการอนุมัติให้สั้นลง เพื่อให้ทันต่อการประกอบอาชีพของคนพิการ 2)สามารถใช้บัตรคนพิการในการเข้ารับบริการจากสถานพยาบาลของรัฐได้ 3)เปิดโอกาสให้มีเวทีสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างสถานประกอบการ ภาครัฐ และคนพิการ เพื่อลดช่องว่างระหว่างสถานประกอบการและคนพิการ 4)กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐจ้างงานคนพิการในพื้นที่อย่างจริงจัง4.3 ข้อเสนอแนะจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น/โรงพยาบาล/สถานศึกษา 1)กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ(พก.) ควรสนับสนุนงบประมาณการจ้างงานคนพิการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อรับผิดชอบงานด้านคนพิการ 2)สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายการจ้างงานคนพิการให้ อปท./รพ./สถานศึกษา ปีละ 1 ครั้ง อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ อปท./รพ./สถานศึกษา ปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง 3)พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งขาติ พ.ศ. 2550 ควรบังคับให้หน่วยงานภาครัฐมีการจ้างแรงงานคนพิการ4.4 ข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยครั้งต่อไป 1) ควรจัดทำฐานข้อมูลโดยจำแนกประเภทความพิการ ความรุนแรงของการพิการ ความต้องการมีงานทำทั้งในสถานประกอบการหรือประกอบอาชีพอิสระ วุฒิการศึกษา ความต้องการในการฝึกอบรมทักษะอาชีพ ความสามารถในการเดินทางด้วยตนเอง และที่อยู่ปัจจุบัน โดยกำหนดตำแหน่งงานที่เหมาะสมกับคนพิการแต่ละประเภทและให้กรมการจัดหางานนำข้อมูลไปใช้ในการจัดหางาน และควรมีการสำรวจตำแหน่งงานที่สถานประกอบและหน่วยงานของรัฐมีความต้องการคนพิการเข้าทำงานในลักษณะงานใด เพื่อให้มีการประสานงานเกี่ยวกับการเข้าถึงสิทธิการทำงานของคนพิการได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2) ควรศึกษาในด้านการเตรียมความพร้อมของคนพิการ ซึ่งเป็นงานที่ต้องบูรณาการกันหลายภาคส่วน ตั้งแต่การศึกษาในระบบ การฝึกอบรมอาชีพเพื่อทำงานในสำนักงาน หรือ โรงงาน โดยจัดหลักสูตรการฝึกให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ โดยให้สถานประกอบการแจ้งความประสงค์หลักสูตรที่ต้องการให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานฝึกอบรม หรือ อาจจะให้สถานประกอบการดำเนินการฝึกอบรมคนพิการก่อนรับเข้าทำงานโดยสามารถนำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมไปหักลดหย่อนภาษีได้รวมถึงการเตรียมความพร้อมในด้านการเข้าสังคม ด้านการทำงานร่วมกับผู้อื่น 3) ควรศึกษาบทบาทหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในท้องถิ่นทุกระดับ เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับคนพิการตั้งแต่การประสานการขึ้นทะเบียนคนพิการในทุกพื้นที่ในเขตการดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การให้ความช่วยเหลือและการสงเคราะห์คนพิการไม่ว่าจะเป็นการให้เบี้ยสงเคราะห์คนพิการ การดูแลให้ทุนประกอบอาชีพต่างๆ การเอื้ออาทรในการนำผู้การไปรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล รวมตลอดทั้งการจ้างงานคนพิการ เนื่องจากมีงบประมาณพอที่จะสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าวได้ แต่เนื่องจากยังมีความเห็นว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่ได้ช่วยดำเนินการในการสงเคราะห์และการจ้างงานคนพิการมากพอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่องอัตรากำลัง เรื่องงบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติม ซึ่งหากสามารถสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีศักยภาพในการดูแลและบริหารศูนย์บริการคนพิการในระดับอำเภอเพื่อช่วยเหลือสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในระดับท้องถิ่น ก็จะทำให้การปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 โดยเฉพาะในมาตรา 33 มาตรา 34 และ มาตรา 35 ได้ผลและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ 4) การวิจัยเกี่ยวกับอาชีพและการมีงานทำที่เหมาะสมสำหรับผู้พิการในแต่ละประเภท 4.5 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย การขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมอาชีพและการมีงานทำในระดับนโยบายยังมีประเด็นที่จะต้องนำมาพิจารณา ซึ่งคณะผู้ศึกษาวิจัยได้ค้นพบในระหว่างการดำเนินการศึกษาและมีข้อเสนอแนะ ดังนี้ 1) การพิจารณาศักยภาพผู้พิการให้เป็นผู้สามารถประกอบอาชีพได้ต้องได้รับการพัฒนาตั้งแต่ในระดับการศึกษา เป็นการพัฒนาความสามารถเฉพาะบุคคลผู้พิการตามลักษณะความพิการและศักยภาพที่จะสามารถประกอบอาชีพได้ และควรเริ่มดำเนินการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนทักษะอาชีพที่เหมาะสม 2) การทำความตกลงความร่วมมือของหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องจะประสบผลสำเร็จต้องมีแผน และการขับเคลื่อนแผนอย่างเป็นรูปธรรมของทุกฝ่ายเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้พิการ 3) การพิจารณางบประมาณเพื่อช่วยเหลือผู้พิการด้านการประกอบอาชีพที่เหมาะสม ควรลดข้อจำกัดและขั้นตอนการเสนอและนำไปสู่คนพิการ เพื่อการเข้าถึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรจะนำไปปรับกระบวนการพิจารณา 4) การระบุลักษณะความพิการบนบัตรคนพิการควบคู่กับสัญลักษณ์ของความพิการ โดยเจ้าหน้าที่ผู้ออกบัตรคนพิการควรระบุรายละเอียดประเภทความพิการให้ชัดเจน ซึ่งบางครั้งการใช้เฉพาะตัวเลขแทนลักษณะความพิการโดยไม่มีรายละเอียดอาจส่งผลต่อการสื่อสาร อาทิเช่น ผู้พิการทางการได้ยินที่ไม่สามารถพูดสื่อสารได้ เป็นต้น เพื่อการสื่อสารสำหรับผู้พิการกับบุคคลที่ผู้พิการติดต่อประสานงานด้วย 5) การเพิ่มบทลงโทษและเข้มงวดสำหรับสถานประกอบการที่ละเลยการจ้างงานคนพิการและการเลี่ยงการจ้างงานตามมาตรา 33 และมาตรา 34 ให้รุนแรงยิ่งขึ้น 6) การจัดสถานที่ที่เหมาะสมและเอื้ออำนวยสำหรับผู้พิการในสถานประกอบการเพื่อรองรับผู้พิการเข้ามาทำงาน เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้สถานประกอบการหลีกเลี่ยงการจ้างงานตามมาตรา 33 แต่มาใช้มาตรา 35 แทนเป็นส่วนมาก 7) การส่งเสริมหรือ MOU ร่วมกันในการบูรณาการหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่เพื่อให้รับคนพิการเข้าทำงานในชุมชน โดยครอบคลุมตามจำนวนคนพิการที่เพิ่มขึ้น
Date of Publication :
03/2023
Publisher :
สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
Category :
รายงานการวิจัย
Total page :
77012 pages
People Who Read This Also Read