Notifications

You are here

อีบุ๊ค

การสังเคราะห์งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับบทบาท สถานภาพ...

TNRR

Description
สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการส่งเสริม ความเสมอภาคระหว่างหญิงชายโดยตรง จำเป็นที่จะต้องทราบข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ ผลการศึกษาและข้อเสนอแนะจากการเก็บรวมรวมข้อมูล การวิจัย และผลงานวิชาการ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสตรีทั้ง 12 ประเด็นตามปฏิญญาปักกิ่งและแผนปฏิบัติการเพื่อความก้าวหน้าของสตรี รวมถึงประเด็นห่วงใยเพิ่มเติมอีก 8 ประเด็น จึงได้ร่วมกับโครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีองค์ความรู้ด้านสตรีและเยาวชนศึกษาเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป จัดทำการสังเคราะห์งานวิจัยที่เกี่ยวกับบทบาท สถานภาพสตรีและความเสมอภาคระหว่างหญิงชายเพื่อทราบถึง สถานการณ์ของการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวรวมทั้งผลการวิจัยและข้อเสนอแนะจากการวิจัย เพื่อนำบทสังเคราะห์ดังกล่าวมาใช้วางแผนในการดำเนินการด้านการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย และส่งเสริมการวิจัยในประเด็นที่ยังไม่มีการศึกษาวิจัยหรือมีแต่ข้อมูลยังไม่ครบถ้วนในอนาคตต่อไป วัตถุประสงค์ในการศึกษา คือ (๑) เพื่อสังเคราะห์งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับบทบาท สถานภาพสตรีและความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย (๒) เพื่อทราบถึงสถานการณ์ของงานวิจัยในประเด็นต่างๆ ของสตรี และนำข้อเสนอแนะจากการสังเคราะห์งานวิจัยฯ มาใช้ในการดำเนินการด้านความเสมอภาคหญิงชาย และ (๓) เพื่อเป็นฐานข้อมูล (Data base) สำหรับการดำเนินงานด้านการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย ใน 12 ประเด็น และประเด็นห่วงใยเพิ่มเติมอีก 8 ประเด็น ผลการทบทวนวรรณกรรม ทฤษฎี ผลการศึกษาและสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง ได้ศึกษาสถานการณ์ และวัตถุประสงค์ของแผนปฏิบัติการของปฏิญญาปักกิ่ง รวมทั้งทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในประเด็นที่จะศึกษา ๑๕ ประเด็น ประกอบด้วย สิทธิมนุษยชนสตรี กลไกเชิงสถาบันเพื่อความก้าวหน้าของสตรี สตรีกับสุขภาพ การแพร่ระบาดของโรคเอดส์ สังคมผู้สูงอายุ ความรุนแรงต่อสตรี สตรีกับความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธ การเคลื่อนย้ายแรงงาน สตรีกับเศรษฐกิจ สตรีกับความยากจน สตรีกับสิ่งแวดล้อม สตรีกับอำนาจการตัดสินใจ สตรีกับสื่อมวลชน เด็กผู้หญิง และการศึกษาและฝึกอบรมของสตรี รวม ๑๔๐ เรื่อง กรอบแนวคิด รูปแบบวิธีการวิจัย ในการวิจัยดำเนินการโดยกำหนดกรอบแนวคิดของการศึกษาว่าจะนำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับบทบาท สถานภาพสตรี และความเสมอภาคระหว่างหญิงชายที่สอดคล้องกับประเด็นตามปฏิญญาปักกิ่ง ๑๒ ประเด็น และประเด็นห่วงใยเพิ่มเติม ๓ ประเด็น รวม ๑๕ ประเด็น มาสังเคราะห์งานวิจัย และนำผลที่ได้จากการสังเคราะห์งานวิจัยมาจัดทำข้อเสนอแนะ และแนวทางมาใช้ในการพัฒนางานด้านความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย โดยใช้วิธีการสังเคราะห์งานวิจัยเชิงสังคมศาสตร์ ผลการวิเคราะห์ข้อมูล ได้สังเคราะห์สถานการณ์ แนวคิดและทฤษฎี ผลของงานวิจัย และข้อเสนอแนะจากงานวิจัยใน ๑๕ ประเด็น โดยสรุปได้ ดังนี้ ๑. สิทธิมนุษยชนสตรี : วัฒนธรรม องค์กรพุทธศาสนา กฎหมาย สังคม เศรษฐกิจ การเมือง เป็นเหตุให้สตรีมีสถานภาพและบทบาทที่ต่ำในสังคมไทย ดังนั้นควรผลักดันให้เกิดมาตรการในการบังคับใช้กฎหมายให้เกิดประสิทธิภาพและสร้างความเข้าใจในกลไกของรัฐต่อสตรีให้ดีขึ้น ๒. กลไกเชิงสถาบันเพื่อความก้าวหน้าของสตรี : การพัฒนาความเสมอภาค หญิงชายได้ปรับเปลี่ยนมุมมอง โดยมองว่าปัญหาความไม่เท่าเทียมระหว่างหญิงชาย เป็นเรื่องความสัมพันธ์ เชิงอำนาจ และ ถ้ามุ่งเน้นเป้าหมายเฉพาะสตรีเพียงด้านเดียวไม่สามารถแก้ไขได้ ดังนั้นควรเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายของการพัฒนามาเป็นทั้งหญิงและชายว่าเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนา เพื่อให้เกิดความเสมอภาค และมีการจัดตั้งกลไกในการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชายให้เป็นกระแสหลักการพัฒนาในระดับชาติ ๓. สตรีกับสุขภาพ : สตรีควรมีสิทธิที่จะมีสุขภาพกายและใจในระดับที่สูงสุด ซึ่งสิทธิดังกล่าวสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของสตรี เพราะประสบการณ์ของสตรีเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจะได้รับความทุกข์ทางจิตใจมากกว่าบุรุษ ดังนั้นควรจัดทำโครงการสนับสนุนและจัดระบบการให้ข้อมูลในระบบการให้บริการชุมชนเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพผู้หญิง ๔. การแพร่ระบาดของโรคเอดส์ : สตรีที่ติดเชื้อเอชไอวีต้องเผชิญกับปัญหามากมาย ทั้งเรื่องสุขภาพ และเศรษฐกิจ นอกจากนี้การติดเชื้อเอชไอวียังส่งผลกระทบทางด้านจิตใจด้วย ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขและองค์กรที่เกี่ยวข้องควรร่วมกันในการให้ความรู้แก่สาธารณะเกี่ยวกับโรคเอดส์ และสถาบันการศึกษาควรส่งเสริมระบบการเรียนการสอนให้มีความรู้ครอบคลุมเรื่องเพศศึกษา ๕. สังคมผู้สูงอายุ : การเพิ่มขึ้นของจำนวนและสัดส่วนผู้สูงอายุมีผลกระทบต่อสังคม การแพทย์ สาธารณสุข และสวัสดิการสังคม รวมทั้งการเข้าสู่ภาวะผู้สูงอายุยังส่งผลให้ผู้สูงอายุ ต้องปรับเปลี่ยนสถานภาพและบทบาททางสังคม จากที่ผู้ดูแลมาเป็นผู้พึ่งพา ดังนั้นควรส่งเสริมการจัดสวัสดิการทางเลือกสำหรับผู้สูงอายุในรูปแบบพหุลักษณ์ที่ครอบคลุมทั่วถึงเป็นธรรม โดยคำนึงถึงความแตกต่างสำหรับผู้สูงอายุ ๖. ความรุนแรงต่อสตรี : ความรุนแรงต่อสตรีไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นปัญหาของสังคมที่เกี่ยวกับโครงสร้าง เศรษฐกิจ ค่านิยม และเจตคติของสังคมในเรื่องบทบาทหญิงชาย ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนควรมีการรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรง ตลอดจนมีการทำงานแบบบูรณาการเนื่องจากปัญหาความรุนแรงเป็นปัญหาที่หลายฝ่ายต้องให้ความช่วยเหลือ ๗. สตรีกับความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธ : ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ส่งผลกระทบต่อสตรีและครอบครัว โดยเฉพาะสตรีที่ประกอบอาชีพแม่บ้าน เพราะต้องแบกรับภาระหน้าที่เป็นหัวหน้าครัวเรือน ดังนั้นรัฐควรกำหนดนโยบายการให้ความช่วยเหลือต่อสตรีที่ได้รับผลกระทบอย่างครอบคลุมและทั่วถึง และให้ความสำคัญกับการกำหนดนโยบายการส่งเสริมทั้งการศึกษา สุขภาพ การมีงานทำ การมีรายได้ และที่อยู่อาศัยให้แก่สตรีและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากปัญหา ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ๘. การเคลื่อนย้ายแรงงาน : การพัฒนาทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่จะอยู่ตามแหล่งชุมชนเมือง ทำให้เกิดกระแสการย้ายถิ่นของผู้ด้อยโอกาสโดยเฉพาะหญิงและเด็กซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความอ่อนแอทางสังคม ทำให้ถูกชักจูง ล่อลวง และถูกแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากมนุษย์ด้วยกัน ดังนั้นรัฐต้องส่งเสริมโอกาสในการเข้าถึงตลาดแรงงานที่ไม่เลือกปฏิบัติและให้ความเป็นธรรมแก่สตรี ในภาคเศรษฐกิจ และจัดทำฐานข้อมูลอาชญากรรมจากหลาย ๆ หน่วยงานไว้ในระบบงานเดียวกัน และมีการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูล ๙. สตรีกับเศรษฐกิจ : สตรีและบุรุษมีความแตกต่างกันอย่างมากในการเข้าถึงโอกาสและการใช้อำนาจในโครงสร้างเศรษฐกิจทางสังคม โดยจะเห็นได้จากการที่ตัวแทนของสตรีมีจำนวนน้อย ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจทั้งของสตรี ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนควรให้การสนับสนุนการฝึกอบรมต่าง ๆ แก่สตรีให้มากขึ้น ตลอดจนเร่งให้ความสำคัญต่อการเพิ่มโอกาส และความเชื่อมั่นต่อสตรี เพื่อให้สตรีได้เข้ามามีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ ๑๐. สตรีกับความยากจน : ความยากจนมีสาเหตุหลายประการ รวมทั้งปัจจัยทางโครงสร้าง การปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นได้ทำให้ปัจจัยของการพัฒนาสังคมต้องผันแปร สตรีต้องเผชิญกับความยากจนมากยิ่งขึ้น ดังนั้นควรจะมีการผลักดันให้แม่บ้านเกษตรกรรวมกลุ่มภายในชุมชน และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องควรจัดหาช่องทางจำหน่าย เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ และพัฒนาองค์ความรู้ในการพัฒนาธุรกิจ ๑๑. สตรีกับสิ่งแวดล้อม : สตรีมีส่วนเชื่อมโยงกับและใกล้ชิดกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากว่าบุรุษ เนื่องจากสตรีต้องพึ่งพาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมใน ๔ ฐานะ คือ ฐานะผู้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ฐานะผู้บริโภค ฐานะผู้ผลิต และฐานะผู้จัดการด้านประชากร ดังนั้นรัฐควรส่งเสริมและสนับสนุนเงื่อนไขที่เอื้อต่อการมีภาวะผู้นำสตรี เช่น การให้ความรู้และข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมแก่สตรี ให้โอกาสสตรีในการเป็นผู้นำ และป้องกัน ปรับปรุงแก้ไขปัจจัยที่ปิดกั้นโอกาสในการสร้างภาวะผู้นำ ๑๒. การศึกษาและฝึกอบรมของสตรี : การหล่อหลอมทัศนคติเกี่ยวกับบทบาทหญิงชายในระบบการศึกษา โดยผ่านทางหนังสือแบบเรียน และระบบการศึกษาของโรงเรียน ดังนั้นรัฐควรกำหนดนโยบายสำหรับการจัดทำหนังสือแบบเรียนให้คำนึงถึงประเด็น “บทบาทหญิงชาย” และรวบรวมผลงานวิจัยด้านการศึกษาของสตรีและนำข้อค้นพบในการสังเคราะห์งานวิจัยให้เป็นหมวดหมู่ ๑๓. สตรีกับอำนาจและการตัดสินใจ : การมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมของสตรีในชีวิตการเมืองมีบทบาทสำคัญในกระบวนการความก้าวหน้าของสตรี เพราะหากสตรีไม่มีส่วนร่วมและไม่มีมุมมองของสตรีอยู่ในทุกระดับของการพัฒนา เป้าหมายที่จะให้เกิดความเสมอภาคการพัฒนาก็ไม่อาจบรรลุผลได้ ดังนั้นควรเปิดโอกาสให้สตรีได้มีส่วนร่วมในการบริหารงาน และตัดสินใจในระดับนโยบายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้วยการสร้างมาตรการและกลยุทธ์ในการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของสตรี ๑๔. สตรีกับสื่อมวลชน : การส่งต่อข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วได้ส่งผลกระทบต่อการกำหนดภาพลักษณ์บทบาทของสตรี ทั้งต่อตัวสตรีเอง และกระแสค่านิยม โดยบางครั้งการนำเสนอภาพลักษณ์ของสตรีที่สะท้อนวัตถุทางเพศแสดงถึงความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศที่ครอบคลุมตั้งแต่ระดับครอบครัว ส่งผลให้เกิดการครอบงำทางสังคม ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรเอกชน รวมถึงสตรีที่มีบทบาทในสังคมที่เกี่ยวข้องกับสื่อแขนงต่าง ๆ ควรกำหนดมาตรการควบคุมดูแลสื่อในการสร้างภาพลักษณ์สตรีไปในทางที่ผิด และสื่อควรให้ความสำคัญต่อศักยภาพและผลงานของสตรีมากกว่าการเน้นที่เรือนร่างและการแต่งกาย ๑๕. เด็กผู้หญิง : การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยของสตรีวัยรุ่น ส่วนหนึ่งเกิดจากการรับรู้ค่านิยมทางเพศและบรรทัดฐานของสังคมไทยในเรื่องมาตรฐานเชิงซ้อนทางเพศ และความสัมพันธ์ ทางเพศที่ไม่เสมอภาคระหว่างหญิงและชาย ทำให้สตรีวัยรุ่นขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศและการคุมกำเนิดดังนั้นรัฐควรให้ความสำคัญและปรับเปลี่ยนนโยบายโดยมุ่งเน้นที่ปัญหาสุขภาพอนามัยของสตรีอย่างจริงจังรวมทั้งการให้บริการและช่วยเหลือในเรื่องการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ข้อเสนอแนะจากการวิจัย คือ การจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางเพื่อพัฒนางานด้านบทบาท สถานภาพสตรีและความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของประเด็นตามปฏิญญาปักกิ่ง ๑๒ ประเด็น และประเด็นห่วงใยเพิ่มเติม ๓ ประเด็น รวม ๑๕ ประเด็น <br><br>-

Date of Publication :

02/2023

Publisher :

กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว

Category :

รายงานการวิจัย

Total page :

77012 pages


เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ