Description
การเสื่อมสภาพและความเสียหายของอาคารที่พักอาศัยคอนกรีตเสริมเหล็กเป็นปัญหาที่พบเห็นได้โดยทั่วไปในปัจจุบัน การเสื่อมสภาพและความเสียหายที่พบเห็นในโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กนั้นมีรูปแบบที่ค่อนข้างหลากหลาย และขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆหลายอย่าง เช่น สภาวะแวดล้อมที่แต่ละโครงสร้างเผชิญ และ คุณภาพของวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คอนกรีตที่ใช้ในการก่อสร้าง เป็นต้น ชนิดของโครงสร้างและลักษณะการใช้งานโครงสร้างก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการเสื่อมสภาพของโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก อาคารที่พักอาศัยคอนกรีตเสริมเหล็กก็เป็นโครงสร้างที่มีลักษณะเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนโครงสร้างคอนกรีตประเภทอื่นๆ เช่น การมีปูนฉาบและสีที่ผิวโครงสร้าง และลักษณะการใช้งานโครงสร้างที่ต้องเผชิญความชื้นที่เกิดขึ้นจากการใช้งานอย่างต่อเนื่อง ลักษณะเฉพาะเหล่านี้เป็นสาเหตุให้ลักษณะการเสื่อมสภาพของอาคารที่พักอาศัยคอนกรีตเสริมเหล็กนั้นแตกต่างไปจากโครงสร้างคอนกรีตประเภทอื่นๆ เช่น ทางด่วน ถนน อาคารโรงงาน ฯลฯ
เพื่อให้โครงสร้างคอนกรีตมีความคงทนและอายุการใช้งานตามที่ต้องการ ผู้ที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องควบคุมดูแลรายละเอียดการออกแบบ การเลือกใช้วัสดุ การก่อสร้าง การดูแลบำรุงรักษาโครงสร้าง ให้มีความถูกต้องและเหมาะสมเพื่อไม่ให้โครงสร้างอาคารที่พักอาศัยคอนกรีตเสริมเหล็กมีการสูญเสียสมรรถนะรวดเร็วจนเกินไป
การศึกษาพฤติกรรมและสภาพการเสื่อมสภาพของโครงสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กที่มีลักษณะต่างๆกัน จะช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจในปัญหาดังกล่าว และก่อให้เกิดองค์ความรู้ซึ่งจำเป็นในการดำเนินการป้องกันไม่ให้โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กมีอายุการใช้งานน้อยกว่าที่ควร
การเคหะแห่งชาติ (กคช.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เล็งเห็นถึงความรุนแรงของปัญหาดังกล่าว จึงได้ริเริ่ม “โครงการศึกษาวิจัยปัญหาการเสื่อมสภาพจากความคงทนของโครงสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กด้วยการวิเคราะห์สาเหตุพร้อมกำหนดมาตรฐานวิธีการตรวจสอบและการแก้ไข” โดยมีวัตถุประสงค์หลักที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
? เพื่อศึกษาพฤติกรรมของอาคารที่อยู่อาศัยแบบต่างๆ ที่ได้รับความเสียหายของโครงสร้างจากการเสื่อมสภาพแบบต่างๆ
? เพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการเสียหายของโครงสร้างจากการเสื่อมสภาพแบบที่พบเห็นได้บ่อยในประเทศไทย เพื่อให้ความรู้กับผู้ตรวจสอบความเสียหายของโครงสร้าง
? เพื่อศึกษาปัจจัยต่างๆที่มีความสำคัญต่อพฤติกรรมของโครงสร้างที่ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากปัญหาความคงทนของโครงสร้างผนวกกับเรื่องการซ่อมแซม
? เพื่อพัฒนาวิธีการมาตรฐานในการตรวจสอบโครงสร้างที่ได้รับความเสียหายจากการเสื่อมสภาพของโครงสร้างคอนกรีตและแนวทางในการปฏิบัติงานผนวกกับเรื่องการซ่อมแซม
? เพื่อวิเคราะห์และประเมินผลการตรวจสอบโครงสร้างว่ามีความเสียหายอยู่ในระดับใด เช่น โครงสร้างใช้ได้ต่อไปโดยไม่ต้องซ่อม หรือ โครงสร้างสามารถซ่อมได้ หรือ ทุบทิ้งและสร้างใหม่จะคุ้มกว่า
ทั้งนี้ การเคหะแห่งชาติได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีการก่อสร้างและบำรุงรักษา (Construction and Maintenance Technology Research Center) สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (Sirindhorn International Institute of Technology) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำการศึกษาวิจัย โดยใช้งบประมาณประจำปี พ.ศ. 2552 มีระยะเวลาการศึกษา 365 วัน (เริ่มดำเนินการตามสัญญาตั้งแต่วันที่ 20 กรกฏาคม พ.ศ. 2552 ถึงวันที่ 19 กรกฏาคม พ.ศ. 2553) โดยสามารถแบ่งการศึกษาออกเป็น 5 ส่วนหลักๆ ได้ดังนี้คือ
1. การศึกษาผลของปูนฉาบและสีต่อพฤติกรรมของคอนกรีตภายใต้สภาวะแวดล้อมต่างๆ ด้วยการทดสอบในห้องปฏิบัติการ กล่าวคือ สภาวะคลอไรด์ (Chloride Attack) สภาวะคาร์บอเนชั่น (Carbonation) และสภาวะการชะล้าง (Leaching) ทั้งนี้สภาวะแวดล้อมทั้งสามนั้นถือเป็นสภาวะแวดล้อมที่สามารถทำให้เกิดการเสื่อมสภาพและโครงสร้างอาคารที่พักอาศัยนั้นมักจะเผชิญอยู่เป็นประจำ
2. การตรวจสอบโครงสร้างอาคารที่พักอาศัยเพื่อรวบรวมข้อมูลความเสียหายของโครงสร้างอาคารที่พักอาศัย ทั้งในเชิงของรูปแบบความเสียหายและจำนวนจุดที่เกิดความเสียหาย เพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ลักษณะความเสียหายหลักที่เกิดขึ้นบ่อยในโครงสร้างอาคารที่พักอาศัย รวมถึงปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่ออัตราการเกิดความเสียหายของโครงสร้าง เช่น ตำแหน่งที่ตั้ง เป็นต้น
3. การจัดทำมาตรฐานงานคอนกรีตเมื่อพิจารณาความคงทนและอายุการใช้งาน เพื่อเป็นแนวทางของบุคลากรของการเคหะแห่งชาติในการดำเนินการป้องกันปัญหาความคงทนของโครงสร้างอาคารที่พักอาศัยในความดูแลของการเคหะแห่งชาติ
4. การจัดทำมาตรฐานงานตรวจสอบโครงสร้างอาคารที่พักอาศัยคอนกรีตเสริมเหล็กเพื่อเป็นแนวทางของบุคลากรของการเคหะแห่งชาติในการดำเนินการดูและแก้ไขอาคารที่พักอาศัยในความดูแลของการเคหะแห่งชาติ ทั้งที่เกิดความเสียหายแล้วและยังไม่เกิดความเสียหาย
5. การจัดอบรมเพื่อถ่ายทอดผลงานวิจัยที่ได้สู่บุคลากรของการเคหะแห่งชาติ
ในการดำเนินการส่วนแรก คณะทำงานได้ดำเนินการทดสอบตัวอย่างคอนกรีตและปูนฉาบ ทั้งหมด 5 แบบ (คอนกรีตเปลือย, ปูนฉาบเปลือย, คอนกรีตฉาบปูน, คอนกรีตทาสี, และคอนกรีตฉาบปูนทาสี) ในห้องปฏิบัติการภายใต้สภาวะเร่งทั้งหมด 3 แบบ คือ สภาวะคลอไรด์ สภาวะ คาร์บอเนชั่น และ สภาวะการชะล้าง
ในการดำเนินการส่วนที่ 2 คณะทำงานได้ดำเนินการสำรวจความเสียหายในตัวอย่างอาคารที่พักอาศัยในโครงการที่อยู่ในความดูแลของการเคหะแห่งชาติ ทั้งหมด 10 โครงการ (9 โครงการในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล และ 1 โครงการที่พัทยา) โดยมีการบันทึกรูปแบบความเสียหายและจัดทำแผนที่ความเสียหาย ทั้งนี้ข้อมูลที่ได้ยังนำไปใช้อ้างอิงในการจัดทำมาตรฐานทั้ง 2 ฉบับในการดำเนินงานส่วนที่ 3 และ 4
ในการดำเนินการส่วนที่ 3 และ 4 คณะทำงานได้ดำเนินการร่าง “มาตรฐานงานออกแบบคอนกรีตและข้อกำหนดวัสดุเมื่อพิจารณาความคงทนและอายุการใช้งาน” และ “มาตรฐานงานตรวจสอบโครงสร้างอาคารที่พักอาศัยคอนกรีตเสริมเหล็ก” โดยพิจารณาผลการศึกษาที่ได้ในการดำเนินการส่วนที่หนึ่งและส่วนที่สอง ร่วมกับการศึกษามาตรฐานต่างๆที่มีอยู่ในปัจจุบัน และทำการพัฒนา ปรับปรุง เพิ่มเติม ให้มาตรฐานทั้งสองฉบับมีความเหมาะสมกับพฤติกรรมของอาคารที่พักอาศัยคอนกรีตเสริมเหล็กในความดูแลของการเคหะแห่งชาติ
การดำเนินการส่วนที่ 5 เป็นการจัดอบรมเพื่อให้ถ่ายทอดผลงานวิจัยที่ได้สู่บุคลากรของการเคหะแห่งชาติที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะสามารถนำผลงานที่ได้ไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง
<br><br>-
Date of Publication :
02/2023
Publisher :
การเคหะแห่งชาติ
Category :
รายงานการวิจัย
Total page :
77012 pages
People Who Read This Also Read