หลายคนคงเคยตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราจะ “เกษียณ” (หรือเลิกทำงานประจำหรือมีอิสรภาพทางการเงิน) ได้เมื่อไร? และเราควรจะมีเงินเท่าไร? จึงจะสามารถมีเงินใช้อย่างเพียงพอในการดำรงคุณภาพชีวิต และเพียงพอกับเป้าหมายในอนาคตของชีวิต เช่น ทำอย่างไรจึงจะมีเงินใช้ในแต่ละเดือนพอๆ กับที่ใช้ในปัจจุบัน (หักผลจากเงินเฟ้อที่ของจะแพงขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตแล้วด้วย) เก็บไว้เป็นกองทุนการศึกษาของลูก เก็บไว้เป็นมรดก และยังมีเหลือเพียงพอให้ไปเที่ยวในแต่ละปีได้อีก
การเกษียณอาจจะดูเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับหลายคน แต่การวางแผนตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยทำให้เราทราบได้ว่า เราต้องเตรียมพร้อมและแก้ไขสถานการณ์อย่างไร
ถ้ามองว่าการเกษียณหรือการเลิกทำงานประจำโดยมีเงินใช้อย่างเพียงพอตามที่เรากำหนดไว้เป็นเป้าหมายในอนาคตของชีวิต การเดินทางไปสู่เป้าหมายของเราจะเป็นเรื่องง่ายขึ้นมากถ้าเรามีแผนที่และเข็มทิศ ถ้าเราดูแผนที่ตั้งแต่เริ่มออกเดินทาง เราก็จะรู้ว่าเราต้องมุ่งหน้าไปในทิศทางใด และระหว่างการเดินทาง ถ้าพบว่าทิศทางที่เรากำลังไปไม่ได้มุ่งไปสู่เป้าหมายที่เราต้องการ เราก็สามารถตรวจสอบกับแผนที่และอาศัยเข็มทิศเพื่อช่วยนำเรากลับมาสู่ทางที่เราควรจะไปได้อย่างทันท่วงที
การลงทุนนอกจากจะเป็นเครื่องมือในการสร้างความมั่งคั่งและมั่นคงให้กับทรัพย์สินทางการเงินของผู้ลงทุนแล้ว ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างรายได้ที่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน และเพื่อเป้าหมายของชีวิตในอนาคตได้อีกด้วย
การลงทุนก็เหมือนกับสิ่งอื่นๆ ในชีวิตที่การวางแผนเป็นเรื่องสำคัญ การกำหนดเป้าหมายทางการเงินของตนเอง การประเมินระยะเวลาที่จำเป็นต้องใช้เงิน การตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำในแต่ละเดือน และการประมวลรายได้ประจำอื่นที่ได้รับ จะช่วยให้เราวางแผนทางการเงิน กำหนดจำนวนเงินที่ต้องนำมาลงทุน ประเภทและสัดส่วนของการลงทุน และสภาพคล่องของการลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้ดียิ่งขึ้น โดยเราจะนำข้อมูลเหล่านี้มาประมวลรวมเป็นการวางแผนทางการเงิน
การวางแผนเรื่องรายรับ รายจ่าย และผลตอบแทนจากการลงทุน เป็นปัจจัยสำคัญของการวางแผนทางการเงินเพื่อนำไปสู่อิสรภาพทางการเงิน บล.ภัทร มีเครื่องมือง่ายๆ ไว้ตรวจสุขภาพทางการเงินและกำหนดเป้าหมายทางการเงิน ลองคลิกตั้งเป้าหมายทางการเงินดูว่าเราต้องเก็บเงินเดือนเท่าไรถึงจะมีเงินใช้อย่างเพียงพอในอนาคต
เมื่อได้เป้าหมายทางการเงิน และทราบจำนวนเงินแล้ว ขั้นตอนต่อมาก็คือการเลือกการจัดสรรเงินลงทุนให้เหมาะสมกับเป้าหมาย ผลตอบแทนและความเสี่ยงที่เรารับได้ (ซึ่งมีความสำคัญมาก) ขั้นต่อไปก็คือการลงมือทำให้ได้ตามแผน หลักการที่สำคัญมีอยู่ 2 ข้อ คือ การรักษาวินัยทางการเงิน (เช่น ตั้งเป้าไว้ว่าจะเก็บเงินให้ได้แต่ละเดือนเท่าไร ก็ต้องทำตามแผนนั้น หรือออมเงินเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นการชดเชยถ้าพลั้งเผลอใช้เงินเกินงบประมาณ) และ การเลือกทางเลือกในการออมและการลงทุน (เพื่อให้เงินงอกเงยเร็วที่สุดตามแผน โดยไม่สร้างความเสี่ยงให้กับพอร์ตของตัวเองมากเกินไป)
สำคัญมาก! การมีแผน คือการเตรียมความพร้อมเพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองได้ทุกเมื่อหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป การไม่มีแผน ไม่ต่างอะไรกับการล่องเรือไปโดยไม่มีแผนที่และเข็มทิศ และขอให้ออกเดินทางไปบนเส้นทางการเงินอย่างมีความสุข