หนึ่งในสิ่งที่ควรทำเมื่อมาเยือนเมืองแห่งศิลปะ คือการเยี่ยมบ้านศิลปิน
นอกจากเชียงรายจะเป็นบ้านเกิดของศิลปินระดับตำนานหลายท่าน สภาพแวดล้อมโดยรอบยังสร้างศิลปินรุ่นใหม่เข้าสู่วงการทุกปี หนึ่งในนั้นคือ ป๊อป-ธนนันท์ ใจสว่าง สาวเจียงฮายผู้เทใจให้งานอาร์ตมาตั้งแต่เด็ก เช่นเดียวกับสมาชิกครอบครัวทุกคนที่ต่างมีศิลปะอยู่ในสายเลือด
‘เฮือนศิลป์ธนนันท์ ฐ.’ คือผืนผ้าใบแห่งการวาดฝันและระบายความรักของสมาชิกครอบครัว ซึ่งมี ‘บ้าน’ เป็นจุดรวมใจและสิ่งสำคัญที่แฝงอยู่ในทุกมุม
สตูดิโอไม้เก่าชั้นเดียวออกแบบอย่างประณีต คือแหล่งกำเนิดและแสดงผลงานชีวิตของป๊อป ขณะที่เรือนไม้ไทลื้อประยุกต์ฝั่งตรงข้าม คือที่พักและคาเฟ่เบเกอรี่โฮมเมดของพี่สาว ปาล์ม-นิโลบล ใจสว่าง พร้อมด้วยโซนงานคราฟต์และของฝากฝีมือคุณแม่ สุรีย์ ใจสว่าง
หากวันไหนคุณโชคดีคงจะไปทันผลไม้สด ลูกดก หวานฉ่ำหลากชนิดที่เก็บจากสวนหลังบ้านของคุณพ่อ คมสัน ใจสว่าง และคุณแม่ ซึ่งเดินทางสายเกษตรอินทรีย์มาตั้งแต่สมัยเรียน
ทั้งหมดคือบรรยากาศเล็ก ๆ เปี่ยมความสุขใหญ่ ๆ ในบ้านหลังน้อย ๆ ที่หากคุณว่าง ก็ลองหาเวลามาแอ่วกัน
เฮือนศิลป์ธนนันท์ ฐ.
ศิลปะคือชีวิต
จากบ้านสวนเงียบสงบที่สร้างขึ้นเพื่ออยู่ในกันเองในครอบครัว ความครื้นเครงและแขกเหรื่อแปลกหน้าเริ่มเข้ามาเยี่ยมเยือนหลังจากมีสตูดิโอคนรุ่นใหม่มาเปิดท่ามกลางธรรมชาติรายล้อม และหน้าบ้านที่มีแม่น้ำลาวไหลผ่าน
ป๊อปเก็บแรงบันดาลใจจากบ้านศิลปินที่อยู่รายล้อมมาตั้งแต่เด็ก เมื่อเธอเรียนจบจึงกลับบ้าน เปลี่ยนสวนต้นสักเป็นสตูดิโอระบายความคิด ใช้ความทรงจำและชีวิตในอดีตเป็นตัวละครบนผืนผ้าใบ ผสมด้วยสีโปรดโทนเขียว
จุดเริ่มต้นเล็ก ๆ คือการส่งผลงานไปตามที่อยู่หลังหนังสือการ์ตูนหรือหนังสือพิมพ์ เมื่อส่งแล้วได้รับการเผยแพร่จึงเกิดเป็นความภูมิใจ ประกอบกับแม่สุรีย์มักมีกระดาษมาบริการลูกสาวที่นั่งอยู่ในร้านขายของชำและปลาสวยงามของบ้านหลังเก่าเสมอ เมื่อโตขึ้นป๊อปจึงได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ อาจารย์ศุภกานต์ ตุ่นหนิ้ว และ อาจารย์พรมมา อินยาศรี ศิลปินจิตรกรรมไทยแนวประเพณี แต่สุดท้ายตัวเธอค้นพบเส้นทางที่ชอบนั่นก็คือ Fine Art
เธอบอกว่า แม้เชียงรายเป็นเมืองศิลปิน แต่ต้องยอมรับว่าส่วนมากเป็นงานศิลปะแบบที่มีการซื้อขาย สำหรับป๊อปงานเพนต์จึงตอบโจทย์ระยะเวลาและค่าตอบแทน
“ก่อนหน้านี้เคยเข้าร่วมโครงการกับทางหอศิลป์และพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ ซึ่งมักเป็นศิลปะที่ไม่เน้นการซื้อขาย แต่ทำเพื่อสื่อสารประเด็นบางอย่าง แต่พอกลับมาบ้านต้องทำงานศิลปะแล้วขายเพื่อความอยู่รอด จัดสอน ทำงานคราฟต์
“ตอนเรียนมีความคิดว่าศิลปะไม่ควรทำขึ้นมาเพื่อขาย แต่พอจบมาก็เข้าใจ ถ้าไม่ขายก็ไม่มีเงิน (หัวเราะ) พอเข้าใจเลยกลับมาวาดรูปได้ และตั้งใจว่าเมื่อทำจนมีเงินมากพอถึงจะเอามาทำศิลปะแบบที่ต้องการอีกครั้ง”
ป๊อปบอกว่าเธอมีไฟกับการทำงานศิลปะมากกว่าเดิม ถึงแม้ตอนนี้ Fine Art จะยังเลี้ยงชีวิตไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ศิลปะคือสิ่งหล่อเลี้ยงจิตใจอันดี
ในปีหน้าจะมีงาน Thailand Biennale, Chiangrai 2023 เธอส่งผลงานวาดป้ายเข้าคัดเลือกเช่นกัน แต่ขณะที่รอบแรกไม่ติดโผจนใจแป้ว รอบสอง อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ คัดเลือกให้ผลงานของเธอได้ไปจัดแสดงที่ หอศิลป์แทนคุณ วัดร่องขุ่น ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการมีส่วนร่วมที่น่าภูมิใจ
สนทนาเรื่องวงการกันมาสักพัก เราได้โอกาสเดินชมสตูดิโอของเธอที่ทั้งกว้าง อากาศดี บรรยากาศอบอุ่น รายล้อมด้วยกรอบรูปและผลงานมากมาย เราขอยกตัวอย่างผลงานบางส่วนเป็นภาพเรียกความผ่อนคลายให้หัวใจ