Notifications

You are here

ห่วงโซ่คุณค่า

BCG TOURISM เทรนด์การท่องเที่ยวแห่งยุค ตอบโจทย์โมเ...

29 สิงหาคม 2023 26 อ่านข่าวนี้ 10 เดือนก่อน 0
แผนแม่บท : 5. แผนแม่บท 5 การท่องเที่ยว  
หมวดหมู่ : #5.1 การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม 

 

สืบเนื่องจากรัฐบาลมีความเห็นชอบให้ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยการใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือ BCG Model อันประกอบด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจ ด้าน ที่มีความเชื่อมโยงกัน ได้แก่ B-เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy), C-เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และ G-เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) นั้น ได้ส่งผลให้เกิดการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ที่เรียกว่า BCG Tourism ขึ้น เพื่อเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจตามแนวทางสำคัญของโมเดลนี้ จนปัจจุบันถือเป็นเทรนด์การท่องเที่ยวแห่งยุคที่กำลังมาแรง

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทย จะพบว่ามีแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมและชื่อเสียงโด่งดังระดับโลกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมหรือแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ อีกทั้งอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ยังเป็นภาคส่วนที่มีการเติบโตอย่างสูงมาโดยตลอด โดยในปี พ.ศ.2562 ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวมากถึง 3.01 ล้านล้านบาท ก่อนหดตัวลงจากวิกฤติโควิด แต่หลังวิกฤติคลี่คลาย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ.2566 นี้ ตัวเลขรายได้จากการท่องเที่ยวจะกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง อยู่ที่ประมาณ 1.25-2.38 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นการฟื้นตัวร้อยละ 80

ดังนั้น การส่งเสริมการท่องเที่ยวจนเกิดเทรนด์ BCG Tourism จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่ถูกที่ถูกทางต่อการตอบโจทย์โมเดลเศรษฐกิจ BCG อย่างยิ่ง ซึ่งในสาระของเทรนด์การท่องเที่ยวนี้เป็นอย่างไร เราจะตามไปหาคำตอบกัน 

สำรวจความหมายของ BCG TOURISM

BCG Tourism หมายถึง การนำเอาองค์ความรู้และเทคโนโลยีตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ, เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว มาประยุกต์ใช้กับการท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ แปรรูปผลิตผลอย่างเป็นระบบ มีการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากร ลดการใช้พลังงานและปริมาณขยะ ไม่สร้างมลพิษหรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งมิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมโลก ซึ่งสามารถอธิบายคร่าวๆ ตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแต่ละด้าน ได้ดังนี้

1.      แนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ คือการนำเอาเทคโนโลยีมาจัดการกับผลผลิต ในรูปแบบฟาร์มอัจฉริยะ หรือ Smart Farming ที่เน้นการดูแลผลผลิตแบบเกษตรอินทรีย์อย่างครบวงจร มีการดูแลกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และการพัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพ ปลอดสารเคมี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวตามวิถีอินทรีย์

2.      แนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน คือการนำเอาผลิตผลหรือบริการในแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่ โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นชุมชนท้องถิ่น มาทำให้เกิดการหมุนเวียน ด้วยการวางแผนอย่างเป็นระบบ เริ่มตั้งแต่การออกแบบการผลิตที่ต้นทาง เพื่อให้วัตถุดิบถูกใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า และนำกลับมาใช้ซ้ำหรือปรับปรุงใหม่ได้ ซึ่งเป็นการช่วยลดปริมาณการใช้วัถตุดิบ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน รวมถึงสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวได้มากขึ้น

3.      แนวทางเศรษฐกิจสีเขียว คือการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เน้นความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการไม่ใช้สารเคมี และลดปริมาณของเหลือทิ้งหรือขยะลง ตลอดจนสามารถนำขยะไปแปรรูปให้เกิดมูลค่าได้ 


นอกจากนั้นเทรนด์การท่องเที่ยว BCG Tourism ตามแนวทางการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจ BCG ข้างต้น ก็ยังมีการ

จำแนกเป็นการท่องเที่ยวประเภทต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย 

ประเภทของการท่องเที่ยวในเทรนด์ BCG TOURISM

          เทรนด์ของการท่องเที่ยว BCG Tourism แบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลักๆ ได้แก่  

  

1.      การท่องเที่ยววิถีชุมชน เป็นการท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายตามลักษณะของชุน โดยคำนึงถึงการสร้างความยั่งยืน ด้วยการประยุกต์องค์ความรู้และเทคโนโลยีการพัฒนาเศรษฐกิจ ด้านหรือด้านใดด้านหนึ่ง มาใช้พัฒนาและเพิ่มมูลค่าสินค้าหรือบริการอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวเกิดการซึมซับวิถีชุมชนและอยากสนับสนุน อาทิเช่น แหล่งท่องเที่ยวสวนเกษตร มีการเพาะปลูกพืชผลปลอดสารเคมี และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่น่าสนใจยิ่งขึ้น อาจเป็นผลไม้อบแห้ง ธัญพืช หรือเครื่องดื่ม บรรจุในแพ็กเกจจิ้งที่ออกแบบให้นำไปหมุนเวียนใช้ใหม่ได้ หรือแหล่งท่องเที่ยวผ้าทอมัดย้อมโบราณ มีการส่งเสริมการย้อมสีจากพืชธรรมชาติในชุมชน อนุรักษ์การทอดั้งเดิมที่เป็นเอกลักษณ์ แต่ใส่นวัตกรรมในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่แปลกใหม่หรือหลากหลายกว่าเดิม เพื่อให้เกิดการใช้สอยวัตถุดิบอย่างคุ้มค่า ไม่เหลือทิ้ง ขณะเดียวกันก็ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวมากขึ้น เป็นต้น

 

2.      การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นการท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นส่งเสริมคุณค่าของสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับการรักษาสมดุลในระบบนิเวศและธรรมชาติ หรือการปล่อยคาร์บอนต่ำ เช่น แหล่งท่องเที่ยวเกาะและทะเล มีการสนับสนุนการปั่นจักรยานเที่ยวรอบเกาะแทนรถหรือมอเตอร์ไซค์ งดเว้นกิจกรรมกีฬาทางน้ำที่สร้างมลพิษ รณรงค์การเก็บขยะระหว่างการท่องเที่ยว แล้วนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น แก้วกาแฟ กระถางต้นไม้ หรืออื่นๆ เพื่อสร้างรายได้กลับมาสู่ชุมชน พร้อมกับกระตุ้นจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อมของนักท่องเที่ยวไปในตัว หรือใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการบริการท่องเที่ยวตามที่พักหรือโรงแรมต่างๆ ฯลฯ 


3.      การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นการท่องเที่ยวที่เน้นฟื้นฟูด้านสุขภาพในแหล่งท่องเที่ยวสวยงาม สร้างความผ่อนคลาย และยกระดับสินค้าหรือบริการให้มีมาตราฐานด้านความสะอาด สะดวก และปลอดภัย ภายใต้การพัฒนาตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG เช่น ส่งเสริมการนวดแผนโบราณและใช้สมุนไพรจากธรรมชาติ การบริการวารีบำบัด หรือวิตามินบำบัด (Vitamin Drip) ระหว่างการท่องเที่ยว ฯลฯ     

4.      การท่องเที่ยวเชิงอาหาร เป็นการท่องเที่ยวที่ชูโรงอาหารท้องถิ่นและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์พิเศษจากการกินเฉพาะถิ่น เช่น ร้านอาหาร รีสอร์ต หรือโรงแรมต่างๆ ในแหล่งท่องเที่ยว เน้นจุดขายด้วยเมนูอาหารที่ปรุงจากพืชผักออร์แกนิกหรือปลอดสารเคมี ใช้วัตถุดิบที่เพาะปลูกในชุมชน และเป็นเมนูท้องถิ่นหรือพื้นบ้านนั้นๆ โดยอาจมีการสร้างสรรค์ความคิดใหม่ๆ เพื่อลดการใช้วัตถุดิบลง เป็นต้น โดยจากเทรนด์ท่องเที่ยว BCG Tourism ประเภทต่างๆ เหล่านี้ อาจมีการผสมผสานเข้าด้วยกัน หรือแบ่งแยกย่อยออกไปอีกก็ได้ ขึ้นอยู่กับหน่วยงานหรือองค์กรแต่ละแห่งจะกำหนด 

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว BCG Tourism ประเภทไหน ก็ล้วนต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และคนในชุมชน เพื่อให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายของโมเดลเศรษฐกิจ BCG นั่นเอง...

 

·       ข้อมูลอ้างอิง : https://www.bcg.in.th/data-center/articles/bcg-tourism/https://tatacademy.com/th/publish/article/e64b2554-d206-4e07-8c83-5df6a1f4fe65https://www.isranews.org/content-page/item/84811-tourism.html

URL อ้างอิง: https://knowledgeportal.okmd.or.th/article/6474581dabc64

ไฟล์ที่เกี่ยวข้อง:

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ