Notifications

You are here

ห่วงโซ่คุณค่า

อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ อาณาจักรแห่งสมุนไพ...

29 สิงหาคม 2023 68 อ่านข่าวนี้ 1 ปีก่อน 0
แผนแม่บท : 3. แผนแม่บท การเกษตร  
หมวดหมู่ : #3.6 การพัฒนาระบบนิเวศการเกษตร 

         

          หมู่ไม้เขียวขจีร่มรื่นบนพื้นที่กว้างใหญ่ 140 ไร่ ของอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ ในเขตรั้วมหาวิทยาลัยมหิดล ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ซึ่งปรากฏอยู่เบื้องหน้า ตอกย้ำทุกคนที่มาสัมผัส ด้วยคำพูดของหมอชีวกโกมารภัจจ์ บิดาแห่งศาสตร์การแพทย์แผนไทย มากยิ่งขึ้นว่า

          “ไม่มีพืชใดไม่เป็นยา”

          เพราะพืชสมุนไพรทุกต้นในอุทยานฯ แห่งนี้ ไม่มีต้นไหนนำมาใช้ปรุงยาไม่ได้

          แต่กว่าจะมาเป็นอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติเช่นทุกวันนี้ ย้อนไปเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ที่นี่ได้รับการริเริ่มจัดตั้งเป็น สวนสมุนไพรสิรีรุกขชาติ ขนาด 38 ไร่ มาก่อน โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ณัฐ ภมรประวัติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และศาสตราจารย์พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ หัวหน้าภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ ในขณะนั้น ด้วยความตั้งใจจะให้เป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์พืชสมุนไพรไทยสำหรับการศึกษาวิจัยและพัฒนา จากนั้นจึงมีการขยายเป็นพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติระดับชาติและนานาชาติ ในลักษณะสวนพฤกษศาสตร์ เพื่อการเรียนรู้ทางธรรมชาติวิทยาและภูมิปัญญาของแผ่นดิน พร้อมกับได้รับพระราชทานนามใหม่ จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ว่า อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ จน ปัจจุบันกลายมาเป็นอาณาจักรแห่งสมุนไพรที่มีสมุนไพรไทยรวมมากกว่า 800 ชนิด ทั้งที่เป็นสมุนไพรทั่วไปและสมุนไพรหายาก ซึ่งใครได้แวะมาเยือนก็จะต้องทึ่งกับความมหัศจรรย์ดังกล่าวอย่างแน่นอน

โดยความมหัศจรรย์ของอุทยานฯ แห่งนี้ ได้รับการออกแบบภูมิสถาปัตย์และสถาปัตยกรรมอย่างสร้างสรรค์ ภายใต้แนวคิด อารยสถาปัตย์ หรือ การออกแบบเพื่อมวลชน (Universal Designอันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและอำนวยความสะดวกให้กับทุกผู้คนอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะผู้สูงวัยและคนพิการ นอกจากนั้นยังคำนึงถึงความกลมกลืนกับธรรมชาติในทุกรายละเอียด สมกับเป็นอุทยานฯ ที่ตั้งอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) อันดับหนึ่งของประเทศ อย่าง มหาวิทยาลัยมหิดล ทำให้ทุกย่างก้าวบนอาณาจักรเขียวขจีของอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ เต็มไปด้วยบรรยากาศสดชื่นรื่นรมย์ มีชีวิตชีวา ราวกับได้มาสูดออกซิเจนเข้าปอดและฟื้นฟูกายใจอย่างไรอย่างนั้น

สำหรับส่วนประกอบภายในอุทยานฯ นั้น จะแบ่งเป็นอาคารและลานต่างๆ รวม 14 จุดด้วยกัน ซึ่งแต่ละจุดมีความโดดเด่นน่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากัน เช่น

·       อาคารใบไม้สามใบ เป็นแลนด์มาร์กและจุดต้อนรับประจำอุทยานฯ ที่ออกแบบสถาปัตยกรรมเป็นรูปใบไม้ 3 ใบ ตามแบบต้นกันภัยมหิดล-สัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งที่นี่จะมีการจัดแสดงนิทรรศการถาวร สมุนไพร ภูมิปัญญาไทยสู่สากล และเปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้จากการสัมผัสสมุนไพรจริงอย่างใกล้ชิด รวมทั้งได้เพลิดเพลินกับสื่อวิดีทัศน์และเกมมากมาย ที่ช่วยให้การศึกษาเรื่องสมุนไพรเป็นเรื่องสนุก 

·       อาคารวิจัยและพิพิธภัณฑ์พืช เป็นอาคารสำหรับการวิจัย พร้อมจัดแสดงกระบวนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสมุนไพร โดยเฉพาะชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์ และเป็นแหล่งรวบรวมตัวอย่างสมุนไพรแห้งเพื่อการศึกษาไว้อย่างมากมาย

·       สวนสมุนไพร เป็นสวนรวบรวมสมุนไพรหลากหลายชนิด ทั้งไม้ต้น ไม้พุ่ม และไม้ล้มลุกที่สำคัญๆ ไว้ในที่เดียวกัน

·       ลานนานาสมุนไพร เป็นลานสมุนไพรไม้เล็ก ที่มุ่งให้ความสำคัญกับการเรียนรู้สมุนไพรด้านอาหาร เครื่องใช้ และยารักษาโรค

·       ลานสมุนไพรวงศ์ขิง เป็นลานรวบรวมพืชวงศ์ขิง ทั้งชนิดที่นำมาใช้เป็นสมุนไพร เครื่องเทศ และไม้ประดับ

·       ลานสมุนไพรเพื่อคนพิการและผู้สูงอายุ เป็นลานที่รวบรวมสมุนไพรไว้ให้ชมได้โดยง่าย เน้นสมุนไพรที่มีกลิ่น รส และผิวสัมผัส เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับผู้พิการทางสายตาและการได้ยิน และเน้นออกแบบพื้นที่ให้มีความสะดวกกับผู้สูงอายุและผู้ด้อยสมรรถภาพ

·       ลานสมุนไพรเพื่อสุขภาพ เป็นลานรวบรวมสมุนไพรที่ช่วยดูแลสุขภาพและสามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน

·       หอดูนก เป็นหอสำหรับดูนกในเขตพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อการอนุรักษ์และศึกษาสมุนไพร

·       บ้านหมอยา เป็นอาคารให้บริการตรวจรักษาด้วยการแพทย์แผนไทย 

·       ศาลาหมอชีวกโกมารภัจจ์ เป็นศาลาประดิษฐานรูปหล่อหมอชีวกโกมารภัจจ์ ผู้มีคุณูปการด้านการแพทย์แผนไทย และเป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้าในอดีตกาล

          จากจุดเด่นของอาคารและลานต่างๆ บางส่วนนี้ ก็คงเห็นได้แล้วว่า ที่นี่เป็นอาณาจักรแห่งสมุนไพรที่มีความหลากหลาย และเหมาะกับการเรียนรู้หรือพักผ่อนหย่อนใจมากเพียงใด โดยสมุนไพรทั้งหมดภายในอุทยานฯ ยังมีการลงทะเบียนพืชพันธุ์เอาไว้อย่างครบถ้วน ก่อนนำมาปลูกพักฟื้นและจัดแสดง เพื่อให้สามารถนำไปอ้างอิงหรือใช้ประโยชน์ได้จริง ตลอดจนต่อยอดสู่การศึกษาวิจัยเพิ่มเติมได้อีกด้วย

          จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไม อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ ได้รับการรับรองมาตราฐานสากลเป็นแห่งแรกของประเทศไทย จากองค์กร Botanic Gardens Conservation International (BGCI) แห่งสหราชอาณาจักร ที่มีเครือข่ายสวนพฤกษศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเป็นการรับรองที่ไม่ใช่ได้มาง่ายๆ เลย  

ดังนั้น ในเมื่อเรามีอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ เป็นอาณาจักรที่ซ่อนความวิเศษของสมุนไพรเอาไว้ขนาดนี้ เราจะไม่ไปเยือนเพื่อสัมผัสอย่างใกล้ชิดสักครั้งหนึ่งหรือ?

 

·       ข้อมูลอ้างอิง www.wikipedia.orgwww.mahidol.ac.th

·       ภาพอ้างอิง https://sr.mahidol.ac.th/, FB : Sireepark  

URL อ้างอิง: https://knowledgeportal.okmd.or.th/article/64cb795ed1649

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ