ประวัติศาสตร์ช่วยให้เรารู้จักตัวเราอย่างไร ย่านประวัติศาสตร์ก็ย้อนให้เราได้เรียนรู้รากเหง้าชุมชนหรือเมืองของเราอย่างนั้น โดยผลสำรวจจากหลายสำนัก มีหลายย่านทีเดียวที่เป็นย่านประวัติศาสตร์แสนคลาสสิกของเมืองกรุง อันควรค่าแก่การลัดเลาะไปเรียนรู้ความเป็นมาในอดีต ซึ่งจะขอแนะนำสัก 5 ย่านเป็นไฮไลต์เรียกน้ำย่อย ดังนี้
· ย่านนางเลิ้ง ย่านประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยตกสำรวจจากโพลใดๆ ทั้งสิ้น โดยถือเป็นตลาดบกแห่งแรกของกรุงเทพฯ และเมืองไทยที่มีอายุยาวนานกว่า 100 ปี ตั้งอยู่บนถนนนครสวรรค์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย มีชื่อเดิมว่า ย่านสนามกระบือ ก่อนจะเปลี่ยนเป็น ย่านอีเลิ้ง เนื่องจากมีชาวมอญล่องเรือนำตุ่มอีเลิ้งมาวางขายแถวริมคลองย่านนี้เยอะมาก แต่พอถึงยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็ได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งให้สุภาพขึ้นว่า ย่านนางเลิ้ง
เสน่ห์ของย่านนี้มีหลากหลาย ทั้งอาคารบ้านเรือน หมู่ตึกขนมปังขิงสีอมชมพูสุดโรแมนติก และโรงหนังเก่าแก่อย่างศาลาเฉลิมธานี หรือโรงหนังนางเลิ้ง ซึ่งสวยงามด้วยสถาปัตยกรรมย้อนยุคสมัยรัชกาลที่ 5-6 โดยโรงหนังแห่งนี้เคยเป็นสถานบันเทิงที่ได้รับความนิยมสูงสุด ก่อนจะซบเซาตามกาลเวลา จนต้องปิดตัวลงกลายเป็นเพียงโกดังเก็บของ หรือบ้านไม้หลังเล็กๆ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างบ้านนราศิลป์ ที่เคยเป็นคณะนาฏศิลป์ที่มีชื่อเสียงที่สุด ตอนนี้ก็ปรับมาเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมชุมชนเกี่ยวกับโขนแทน รวมถึงอาคารอีกหลายหลังได้มีการปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้น ผสมผสานไปกับความคลาสสิกดั้งเดิม นอกจากนั้นความที่ย่านนางเลิ้งเป็นตลาด จึงขึ้นชื่อเรื่องอาหารการกินอร่อยเด็ดและเป็นสูตรชาววัง เพราะสมัยก่อนผู้คนย่านนี้เคยทำงานอยู่ในห้องเครื่องในวัง ก็เลยได้วิชาการครัวสืบต่อกันมา ดังนั้นหากลัดเลาะไปที่นี่เมื่อใด ห้ามพลาดอาหารคาวหวานสูตรชาววังอย่างเด็ดขาดเชียว เช่น ข้าวตังเมี่ยงลาว สาคูไส้ปลา
· ย่านกุฎีจีน ย่านประวัติศาสตร์เล็กๆ ของกรุงเทพฯ ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี โดยยุคแรกเริ่มเมื่อ 200 กว่าปีที่แล้ว เป็นกลุ่มชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสมาตั้งรกรากก่อน จากนั้นจึงมีชาวไทย จีน มอญ ฝรั่ง และอินเดียมาอยู่ร่วมด้วย ทำให้เกิดเป็นย่านที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมของ 3 ศาสนา ได้แก่ ศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม และงดงามด้วยตรอกซอยที่รายล้อมไปด้วยบ้านไม้เก่าๆ ตัดกับภาพกราฟิตี้ฝาผนังนำสมัย
สำหรับคำว่า กุฎี หรือ กะดี นั้น หมายถึง ที่อยู่อาศัยของนักบวช จากชื่อย่านใครๆ ก็เดาได้ว่า มีที่มาจากศาลเจ้าเกียนอันกง หรือเรียกกันทั่วไปว่า วัดกุฎีจีน นั่นเอง เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ที่มีไม้แกะสลักและภาพจิตรกรรมฝาผนังประณีตสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ เวลาลัดเลาะตามรอยย่านนี้ วัดแห่งนี้จึงเป็นหมุดหมายตั้งต้น ก่อนจะห้ามพลาดไปชมสถาปัตยกรรมโดดเด่นอื่นๆ เช่น โบสถ์ซางตาครูส ในสไตล์เรอเนสซองส์ผสมนีโอคลาสสิก ที่มียอดโดมสีแดงจำลองมาจากมหาวิหารฟลอเรนซ์ในอิตาลี, พิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของสยามกับโปรตุเกสตั้งแต่สมัยเริ่มต้น, วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ที่มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปหล่อปางป่าเลไลย์ และมัสยิดบางหลวงที่มีการออกแบบเป็นทรงไทยแตกต่างจากมัสยิดแห่งอื่นๆ ฯลฯ
ส่วนขนมที่เป็นเอกลักษณ์ของย่านนี้ แน่นอนก็ต้องขนมกุฎีจีน ขนมลูกผสมระหว่างจีนกับฝรั่ง โดยตัวขนมเป็นตำรับของโปรตุเกส ขณะที่หน้าขนมเป็นของจีน ซึ่งปัจจุบันหารับประทานได้ยาก เนื่องจากหลงเหลือร้านทำขนมชนิดนี้ขายอยู่ไม่มากนัก
· ย่านคลองบางหลวง เป็นอีกย่านประวัติศาสตร์ที่ตั้งอยู่ริมน้ำ โดยมีคลองบางหลวงไหลผ่าน ก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ปัจจุบันก็ยังคงมีกลิ่นอายของอดีต ไม่ว่าจะเป็นบ้านไม้ชั้นเดียวรูปทรงเก่าแก่ วัดวาอารามแสนสงบ หรือวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม สำหรับจุดเด่นของสถานที่ย่านนี้หนีไม่พ้น วัดกำแพงบางจาก บ้านศิลปิน และพิพิธภัณฑ์คลองบางหลวง
โดยวัดกำแพงบางจาก ถือเป็นพุทธสถานสำคัญของชาวคลองบางหลวง ที่สวยงามด้วยภาพพระพุทธฉายขนาดใหญ่สีทองตัดกับพื้นหลังสีแดงด้านหน้าอุโบสถ อันเป็นศิลปะการเขียนของช่างโบราณ ส่วนภายในประดิษฐานหลวงพ่อบุษราคัม พระประธานปางมารวิชัย และมีภาพจิตรกรรมฝาผนังทรงคุณค่า 4 ด้านให้ได้ชมกัน สำหรับบ้านศิลปิน เดิมเป็นบ้านเก่าของตระกูลรักสำรวจ ช่างทองเก่าแก่ของคลองบางหลวง ภายหลังขายให้กับคุณชุมพล อักพันธานนท์ เพื่อนำมาปรับปรุงเป็นสถานที่แสดงงานศิลปะทุกแขนง โดยเฉพาะศิลปะโขนและหุ่นละครเล็ก ซึ่งที่นี่ถือเป็นบ้านไม้แห่งแรกที่ปลุกชีวิตของชาวคลองบางหลวงให้กลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่งด้วย ส่วนพิพิธภัณฑ์คลองบางหลวง เป็นสถานที่เก็บรวบรวมหลักฐานการมีอยู่ของชุมชนมาแต่ครั้งโบราณ ทำให้เราสามารถเรียนรู้อดีตเกี่ยวกับย่านนี้จากสิ่งของต่างๆ ได้อย่างมากมาย
· ย่านพาหุรัด เป็นย่านประวัติศาสตร์เมืองกรุงที่ตั้งอยู่บนถนนพาหุรัด เดิมเป็นชุมชนของคนญวน เมื่อ 100 กว่าปีก่อน แต่หลังจากเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ คนญวนย้ายหนีออกไป แล้วมีการสร้างถนนพาหุรัดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ชาวอินเดียก็อพยพมาอยู่แทนและมีจำนวนมากที่สุดในกรุงเทพฯ จนได้ฉายาว่า Little India อีกทั้งยังเป็นแหล่งค้าผ้าเก่าแก่ที่สุดของไทยด้วย ดังนั้นทุกตรอกของย่านนี้จึงมีผ้าส่งตรงจากอินเดียมาขายเต็มไปหมด ถือเป็นการนำเข้าวัฒนธรรมต่างถิ่นที่หาดูได้ยาก เพราะผ้าเหล่านี้ถูกถักทอแต่งแต้มสีสันอย่างมีเอกลักษณ์ ซึ่งปัจจุบันย่านพาหุรัดก็ยังขับเคลื่อนด้วยวิถีชีวิตแบบอินเดีย เวลาลัดเลาะผ่านจะเห็นตึกพาณิชย์ประดับด้วยผ้าหลากสี ผู้คนเดินขวักไขว่ในเครื่องนุ่งห่มสีจัดจ้าน ได้กลิ่นธูปกลิ่นกำยานลอยมา พร้อมกับบทสวดทางศาสนา โดยมีวัดคุรุดวาศรีคุรสิงห์สภา วัดซิกข์แห่งแรกของไทยที่มีโดมขนาดใหญ่สีทองอร่าม เป็นศูนย์รวมจิตใจ อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากสถานที่เก่าแก่อย่าง ดิโอลด์สยามพลาซ่า ห้างไชน่าเวิลด์ (ห้างชื่อจีนแต่เจ้าของร้านค้าส่วนใหญ่เป็นชาวซิกข์) และห้างอินเดียเอ็มโพเรียม ส่วนอาหารอินเดียแท้ๆ หลายเมนูก็พบเห็นและลิ้มรสได้จากที่นี่เช่นกัน
· ย่านเยาวราช เมื่อเอ่ยถึงคนจีนในเมืองไทย ก็ต้องนึกถึงเยาวราชย่านประวัติศาสตร์เมืองกรุง ซึ่งเป็นย่านอยู่อาศัยของคนจีนโพ้นทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ ตั้งอยู่บนถนนเยาวราชที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 และมีความยาวประมาณ 1.5 กิโลเมตร ลักษณะคดเคี้ยวคล้ายมังกรเลื้อย นอกจากคึกคักด้วยบรรยากาศของการค้าตั้งแต่หัวถึงปลายถนนแล้ว ก็ยังเปี่ยมเสน่ห์ด้วยอาคารเก่าแก่และทรงคุณค่าทั้งในสไตล์จีน เรอเนสซองส์ และนีโอคลาสสิก
สำหรับด้านการค้า ย่านเยาวราชถือเป็นแหล่งค้าทองที่สำคัญของประเทศ มีร้านค้าทองเรียงรายรวมกันกว่าร้อยร้านทีเดียว ร้านดั้งเดิมสืบทอดมาจนถึงวันนี้ ก็เช่น ร้านตั้งโต๊ะกัง ร้านฮั่วเซ่งเฮง ร้านจินฮั้วเฮง ร้านทองทองใบ แล้วยังขึ้นชื่อเรื่องของกินสไตล์ไชน่าและอาหารสตรีตฟู้ดแสนอร่อย ส่วนอาคารสถานที่โดดเด่น ซึ่งทำให้ใครๆ ต้องลัดเลาะมาชมกันนั้น มีตั้งแต่วัดเล่งเน่ยยี หรือวัดมังกรกมลาวาส วัดจีนแห่งแรกที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบจีนตอนใต้ของสกุลช่างแต้จิ๋ว วางแปลนตามแบบวัดหลวง ด้านหน้าตกแต่งซุ้มหลังคาด้วยปูนปั้นรูปมังกร, ศาลเจ้าแม่กวนอิม มูลนิธิเทียนฟ้า, วงเวียนโอเดียน-สัญลักษณ์ของเยาวราช, พิพิธภัณฑ์วัดไตรมิตร ศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช ตั้งอยู่ในวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ซึ่งรวบรวมเรื่องราวของชาวจีนย่านนี้ไว้อย่างละเอียด และก็พิพิธภัณฑ์ทองคำ ห้างทองตั้งโต๊ะกัง ซึ่งสร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นตึก 7 ชั้นสวยงาม ภายในเต็มไปด้วยเครื่องมือทำทองที่หาดูได้ยาก นอกจากนั้นอาคารเก่าที่เรียงรายอยู่ทั่วย่านก็ให้ความรู้สึกแบบย้อนยุคชวนประทับใจไม่น้อยกว่ากัน
· ข้อมูลอ้างอิง : www.wikipedia.org, www.thai.tourismthailand.org, www.bangkokbiznews.com, www.plearnarythai.com,